วิทยานิพนธ์ พระมหาศรพนา บทที่ 2

บทที่ 2

วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง


การวิจัยเรื่อง การใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา สำหรับนักเรียนโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1 ผู้วิจัยได้ศึกษา วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุม (1) สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา
(
2) หนังสือเรียน (3) การใช้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา (4) หนังสือเรียนรายวิชาพระพุทธศาสนา และ(5) งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  

1.  สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา

ผู้วิจัยได้ศึกษาเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา ครอบคลุม (1) ความหมายของสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา (2) ความสำคัญและบทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา (3) ประเภทของสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา และ (4) ประโยชน์ของสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา
1.1  ความหมายของสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา
        ทิพย์เกสร บุญอำไพ (2549: 6) ได้กล่าวไว้ว่า สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา หมายถึง ข้อเขียนที่อยู่ในรูปความรู้และข่าวสาร โดยผู้เขียนมีวัตถุประสงค์ที่เกิดประโยชน์ทางความรู้แก่ผู้อ่านเป็นสำคัญ แล้วถ่ายทอดข้อเขียนในรูปสื่อสิ่งพิมพ์ หรือเขียนลงบนกระดาษหรือฟิล์ม หรือวัสดุพื้นราบอื่นๆ เพื่อให้สามารถแพร่กระจายไปถึงผู้อ่านได้เป็นจำนวนมาก
        วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ (2555) ได้กล่าวไว้ว่า สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา หมายถึง สิ่งพิมพ์ในรูปแบบต่างๆ ที่จัดพิมพ์ขึ้นโดยบรรจุเนื้อหาสาระที่ดีมีประโยชน์และให้ความรู้ทั้งที่เป็นความรู้ทั่วๆ ไป เช่น ความรู้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ สุขภาพอนามัย การใช้เวลาว่าง เป็นต้น
        สรุปได้ว่า สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา เป็นเอกสารที่จัดพิมพ์โดยมีวัตถุประสงค์เป็นเขียนที่ให้ความรู้ เกิดประโยชน์และให้ความรู้แก่ผู้อ่านได้จำนวนมากในรูปสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาหรือเขียนลงบนกระดาษ
1.2  ความสำคัญและบทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา
        1.2.1   ความสำคัญของสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา
                    สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษามีความสำคัญ ดังนี้ (สุรสิทธิ์  วิทยารัฐ 2546: 25)
1)      เป็นสิ่งที่มีราคาถูก เมื่อเปรียบเทียบกับสื่อมวลชนอื่นๆ สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาเป็นสื่อมวลชนที่มีราคาถูกที่สุด
2)      สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาแพร่หลายทั่วไปหาซื้อได้ง่ายเพราะว่าการที่มีต้นทุนในการผลิตต่ำและอีกประการหนึ่งก็คือ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นสื่อที่ต้องใช้ไฟฟ้าประกอบ
3)      สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษานั้นเมื่อซื้อมาแล้วจะอ่านเมื่อใดก็ได้ตามแต่อารมณ์
4)      สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาเสนอเรื่องราวที่สามารถเก็บรักษาไว้เป็นหลักฐานได้นานเมื่อประสงค์อ่านหรืออ้างอิงก็สามารถทำได้
5)      สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาไห้ข่าวสารและรายละเอียดได้ลึกซึ้งมากกว่าวิทยุโทรทัศน์
6)      สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาเป็นสื่อมวลชนที่แตกต่างไปจากสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาประเภทอื่นๆ ข่าวสารต่างๆ เป็นเรื่องราวใหม่น่าสนใจชักจูงให้อยากอ่าน อ่านแล้วเกิดความรู้สึกและเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ มีข้อมูลในการตัดสินใจบางกรณี ทำให้มองเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยทัศนะอันกว้างและพัฒนาความรู้สึกนึกคิดเป็นอย่างดี

ตารางที่ 2.1  ตารางแสดงเปรียบเทียบจุดต้นทุนและข้อจำกัดของสื่อสิ่งพิมพ์กับสื่ออื่น ๆ

ชนิดของสื่อ
ความเร็ว
คุณภาพ
ราคาสื่อ
การเก็บรักษา
1.        วิทยุ
สื่อได้เร็ว
สื่อได้เฉพาะเสียง
สูง
เก็บรักษาไม่ได้
2.        โทรทัศน์
สื่อได้เร็ว
สื่อได้ทั้งภาพ เสียง และการเคลื่อนไหว
สูง
เก็บรักษาไม่ได้
3.        โทรศัพท์
สื่อได้เร็ว
สื่อได้เฉพาะเสียง
สูง
เก็บรักษาไม่ได้
4.        โทรสาร
สื่อได้เร็ว
สื่อภาพและตัวอักษร
สูง
เก็บรักษาได้ระยะหนึ่ง
5.        เทปและวีดิทัศน์
สื่อได้เร็ว
สื่อได้ทั้งภาพ เสียง และการเคลื่อนไหว
สูง
เก็บรักษาได้ระยะเวลาจำกัด
6.       สื่อสิ่งพิมพ์
สื่อได้ช้า
สื่อได้ทั้งภาพและตัวอักษรคมชัดกว่าสื่ออื่น ๆ
ต่ำ
เก็บรักษาได้นาน และนำมาใช้ได้อีก
ที่มา : วิชัย  พยัคฆโส (2542: 17)

                    เมื่อเปรียบเทียบสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษากับสื่อมวลชนประเภทอื่นๆ พบข้อได้เปรียบว่า
1.        ด้านความเชื่อถือได้ เพราะว่า คนเรามีความมั่นใจในสิ่งที่อ่านมากกว่าสิ่งที่ได้ยิน
2.        ด้านความสมบูรณ์ เพราะว่า สื่อสิ่งพิมพ์ให้รายละเอียดมากกว่าสื่อประเภทอื่น
3.        ด้านการอ้างอิง เพราะว่า ผู้อ่านสามารถกลับมาอ่านได้อีกครั้ง หรือหลาย ๆ ครั้งได้ และอ่านเวลาใดก็ได้ แต่สื่ออื่นต้องอาศัยเวลา และตารางออกอากาศ
4.        ด้านการย้ำ สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาอาจอ่านเรื่องเดียวกันติดต่อกันหลายวัน และทุกครั้งที่มีรายละเอียดเพิ่มเติม แต่สื่ออื่นทำไม่ได้เพราะจำกัดด้วยเรื่องเวลา
                    ทิพย์เกสร  บุญอำไพ (2549: 9) ได้กล่าวไว้ว่า สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษามีความสำคัญ ดังนี้
1.        ถ่ายทอดความรู้ไปยังนักเรียนจำนวนมาก ตำรา แบบเรียน และสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทอื่น สามารถส่งไปถึงนักเรียนจำนวนมากโดยต้องใช้ระบบการคมนาคมที่มีประสิทธิภาพให้เข้าไปถึงได้ทุกแห่ง
2.        ถ่ายทอดความรู้หรือเหตุการณ์ได้รวดเร็วและซับซ้อนได้ดี นักเรียนไม่เข้าใจสามารถย้อนกลับไปอ่านใหม่ได้ทบทวนจนเกิดความเข้าใจ
3.        มีความคงทน กว่าสื่อมวลชนเพื่อการศึกษาประเภทอื่น ดังนั้น ความรู้หรือข้อมูลที่อยู่ในสื่อสิ่งพิมพ์นี้ไม่เสื่อมสภาพ สูญหายได้ง่ายๆ ย่อมมีความคงทนในการเสนอเนื้อหาสาระ เป็นประโยชน์ในแง่การศึกษา
4.        เสียค่าใช้จ่ายต่อหัวต่ำ เป็นสื่อที่มีราคาถูกไม่ต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ประกอบในการศึกษานักเรียนจึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เมื่อจำนวนการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์มาก ต้นทุนในการผลิตต่ำลง ราคาขายก็จะถูกลง และสามารถนำกลับมาใช้ได้อีก
5.        มีประสิทธิภาพและการเรียนการสอน นักเรียนสามารถเรียนได้ด้วยตัวเองตามความสะดวก ตามความพร้อมความสามารถ และความสนใจของนักเรียน และเป็นสื่อที่ให้ความรู้พื้นฐานนักเรียนก่อนที่จะไปเรียนจากสื่อประเภทอื่นหรือทำกิจกรรมการเรียนการสอน ดังนั้น สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาจึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน มากขึ้น
                    สรุปได้ว่า สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา มีความสำคัญต่อการศึกษา คือ เป็นสื่อที่สามารถถ่ายทอดความรู้ เหตุการณ์ที่ซับซ้อน และเรื่องราวต่างๆ ให้แก่คนจำนวนมากในรูปของสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีความคงทนต่อการใช้สามารถนำมาอ่านทบทวนได้ตามความต้องการและมีราคาถูก


        1.2.2   บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา
                    สมพร  จารุนัฏ (2547: 45) ได้กล่าวถึงบทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาไว้ดังนี้
1.        ทุกบททุกเรื่องจะนำเสนอความรู้ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา ซึ่งมีรายละเอียดนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้
2.        กระบวนการเรียนรู้อาศัยสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาในการสร้างปฏิสัมพันธ์ ระหว่าครูกับนักเรียน และนักเรียนกับนักเรียนด้วยกัน โดยครูเป็นผู้กระตุ้นให้นักเรียนฟัง อ่าน ดู สังเกต คิด พูด และเขียน สร้างความรู้ความเข้าใจด้วยตนเอง
3.        แต่ละบท แต่ละเรื่อง จะนำเสนอโดยบูรณาการเนื้อหา ทักษะ จริยธรรม เจตคติ และค่านิยมที่เหมาะสมกับสารการเรียนรู้ภาษาไทยและสังคมศึกษาฯ เข้าด้วยกัน ให้สัมพันธ์และสนองมาตรฐานและการเรียนรู้ของทั้งสองกลุ่มสาระ
4.        การนำเสนอเน้นให้นักเรียนเห็นกระบวนการในการเรียนรู้ สามารถทำความเข้าใจ คิดหาเหตุผล คิดวิเคราะห์ และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง รวมทั้งสามารถนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ
                    สรุปได้ว่า สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา มีบทบาทในการนำเสนอความรู้ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ แต่ละเรื่องจะนำเสนอโดยบูรณาการเนื้อหา ทักษะ จริยธรรม ความคิด และค่านิยม โดยอาศัยการเรียนรู้ระหว่างครูกับนักเรียนสามารถทำความเข้าใจ คิดหาเหตุผล คิดวิเคราะห์ และสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง
1.3  ประเภทของสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา
        สุพัฒน์  ส่องแสงจันทร์ (2543: 13-15) ได้กล่าวถึงประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ ไว้ดังนี้
1.        ต้นฉบับตัวเขียน และจดหมายเหตุ (Manuscripts and Archives) เป็นสิ่งพิมพ์ที่บันทึกข้อมูลความรู้ด้วยการเขียน การวาดด้วยลายมือซึ่งเป็นวิธีการผลิตเอกสารแบบดั้งเดิม เช่น จารึกบนแผ่นดินเหนียว แผ่นหนัง ศิลาจารึก สมุดข่อย คัมภีร์ใบลาน ต้นฉบับโน้ตเพลง เป็นต้น
2.        หนังสือ (Books) เป็นบันทึกความรู้ ความเชื่อ เหตุการณ์ เรื่องราวและประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีรูปเล่มถาวร ในเล่มหนึ่งจะมีเพียงเรื่องเดียว หรือหลายเรื่องก็ได้ หนังสือแบ่งเป็น ประเภทต่างๆได้แก่ (1) หนังสือตำราและสารคดี (2) หนังสือบันเทิงคดี นวนิยาย เรื่องสั้น
3.        สิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง (Periodicals) เป็นสิ่งพิมพ์ที่ออกเป็นส่วน เป็นตอนต่อเนื่องติดต่อกันโดยมีระยะอย่างสม่ำเสมอก็ได้ แบ่งเป็นประเภทต่างๆได้แก่ (1) หนังสือพิมพ์ (2) วารสาร นิตยสาร
4.        จุลสาร (Pamphlets) เป็นสิ่งพิมพ์ขนาดเล็ก มีความหนาไม่มากนัก องค์การยูเนสโก กำหนดให้จุลสารมีความหนา ระหว่าง 5-48 หน้า บางตำรากำหนดไว้ถึง 100 หน้า โดยเฉลี่ย จุลสารจะมีจำนวนหน้าประมาณ 60 หน้า
        ทิพย์เกสร  บุญอำไพ (2549: 10-15) ได้กล่าวถึงประเภทของสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาไว้ ดังนี้
1.        หนังสือตำรา (Textbook) พิมพ์ขึ้นในหลายลักษณะส่วนใหญ่จะพยายามพิมพ์ขึ้นให้ดูน่าสนใจ มีภาพประกอบสีสันสวยงาม และอธิบายเนื้อหาวิชาอย่างชัดเจน สามารถใช้ได้ในจุดมุ่งหมายหลายอย่าง เช่น เป็นหนังสืออ่านประกอบ หนังสืออ่านเพิ่มเติม เป็นต้น
2.        แบบฝึกปฏิบัติ (Workbook) พิมพ์ขึ้นในลักษณะคล้ายคลึงกับข้อสอบมีคำถามและให้ใส่คำตอบเองหรือเลือกคำตอบ จุดมุ่งหมายของแบบฝึกปฏิบัติ คือ ต้องการให้ผู้ใช้ได้ฝึกฝนตนเองในเรื่องที่ศึกษาเนื้อหา และฝึกทักษะในการตอบคำถาม หรือทำโจทย์ข้อสอบจริงๆ
3.        เอกสารสำเนา (Hard Copy) เป็นสิ่งพิมพ์ที่ทำขึ้นโดยการพิมพ์แบบสำเนาหรือถ่ายเอกสารด้วยเครื่องถ่ายเอกสารแบบถ่ายเป็นจำนวนมากติดต่อกันได้ โดยคัดเฉพาะบางหน่วยหรือบางเนื้อหาออกจากหนังสือเล่มใหญ่ๆ ที่มีราคาแพง หรืออาจทำเนื้อหาขึ้นใช้เป็นการเฉพาะกาลแล้วมาพิมพ์ จากนั้นจะเย็บเป็นเล่มด้วยวิธีการง่ายๆ การผลิตเช่นนี้ทำให้เอกสารสำเนามีราคาถูกมาก
4.        หนังสือพิมพ์ (Newspapers) เป็นวารสารประเภทหนึ่งมีกำหนดออกเป็นวาระแน่นอน เช่น ออกเป็นรายวัน ราย 3 วัน หนังสือพิมพ์เข้ามามีบทบาทในด้านการศึกษาเสนอข่าวที่ทันต่อเหตุการณ์ และเสนอเรื่องราวที่กำลังสนใจในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ เพื่อให้ความรู้ที่ทันสมัยแก่ผู้อ่าน
5.        วารสาร (Periodicals) เป็นสิ่งพิมพ์ที่ให้ข้อมูลเนื้อหาที่ทันสมัยทันเหตุการณ์จัดพิมพ์อย่างต่อเนื่อง มีกำหนดออกมาเป็นวาระต่างๆ เช่น รายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน เป็นต้น วารสารที่เป็นวารสารวิชาการ (Journal) จะเสนอเนื้อหาตามข้อเขียนทางวิชาการ เกร็ดความรู้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน
6.        จุลสาร (Pamphlets) เป็นสิ่งพิมพ์ที่กล่าวถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งจบสมบูรณ์ในเล่ม มีความยาว 5-50 หน้า เนื้อหาของจุลสารเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา เช่น บทความเชิงวิชาการ สุนทรพจน์ของบุคคลสำคัญ ระเบียบข้อบังคับของสมาคม หรืออาจเป็นเรื่องราวที่พิมพ์เนื่องในโอกาสสำคัญ เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ในจุลสารเป็นเรื่องที่สนใจในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่มีประโยชน์มากเพราะมีเรื่องใหม่ๆ
7.        หนังสืออ้างอิง (Reference) เป็นสิ่งพิมพ์สำหรับค้นคว้าประกอบความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานมุ่งให้ข้อเท็จจริง โดยเสนอความรู้และเรื่องราวต่างๆ อย่างกะทัดรัด หนังสืออ้างอิงที่ให้คำตอบหรือข้อเท็จจริงมีหลายประเภท ได้แก่ พจนานุกรม สารานุกรม หนังสือรายปี นามานุกรม อักขรานุกรมชีวประวัติ และหนังสืออ้างอิงภูมิศาสตร์
7.1       พจนานุกรม (Dictionaries) เป็นหนังสืออ้างอิงที่ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรู้เกี่ยวกับคำ เช่น ชนิดของคำ ที่มาของคำ การออกเสียง คำจำกัดความ คำที่มีความหมายเหมือนกัน หรือคำที่มีความหมายแตกต่างกัน
7.2       สารานุกรม (Encyclopedias) เป็นหนังสืออ้างอิงที่ให้ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความรู้ สาขาวิชาต่างๆ ตามขอบเขตที่กำหนด
7.3       หนังสือรายปี (Yearbooks,Almanace,Annuals) เป็นหนังสืออ้างอิงที่รวบรวมความรู้และข้อเท็จจริงต่างๆ ในรอบปี
7.4       นามานุกรม (Directories) หรือบางทีเรียกทำเนียบนาม หรือนามสงเคราะห์ เป็นหนังสืออ้างอิงที่รวบรวมรายชื่อบุคคล สถาบัน องค์การ สมาคม หน่วยงาน หรือบริษัทห้างร้านต่างๆ
7.5       อักขรานุกรมชีวประวัติ (Biographical Dictionaries) เป็นหนังสืออ้างอิงที่รวบรวม ชีวประวัติบุคคลสำคัญต่างๆ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการหรือภาคเอกชน
7.6       หนังสืออ้างอิงภูมิศาสตร์ (Geographical Sources) เป็นหนังสืออ้างอิงที่ให้รายละเอียดตามภูมิศาสตร์ เช่น ชื่อเมือง ภูเขา ทะเลสาบ แม่น้ำ มหาสมุทร และสถานที่สำคัญ
8.        รายงานการวิจัย (Monograph) เป็นผลการวิจัยที่พิมพ์ออกมาเป็นจำนวนไม่มากนัก สำหรับมีไว้ตามหน่วยที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นเอกสารสำหรับการค้นคว้าและใช้ในการอ้างอิงสำหรับที่จะศึกษาหรือวิจัยในงานที่ต้องการวิจัยเรื่องนั้น
9.        วิทยานิพนธ์ (Theses หรือ Dissatation) เป็นสิ่งพิมพ์ที่เป็นผลงานการค้นคว้าวิจัยของนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัย อันเป็นข้อกำหนดตามหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญามหาบัณฑิตและปริญญาดุษฎีบัณฑิตวิทยานิพนธ์จะเหมือนกับรายงานวิจัยใช้ในการอ้างอิง
10.       หนังสือภาพและภาพชุดต่างๆ เป็นหนังสือที่ประกอบด้วยภาพพิมพ์ที่เป็นเรื่องเดียวกัน ส่วนใหญ่จะเป็นภาพที่พิมพ์สีสวยงาม และมีราคาสูง แต่จะให้เนื้อที่เรื่องเดียวกัน เช่น ภาพชุดการจัดการดอกไม้แบบญี่ปุ่น ภาพชุดทัศนียภาพที่สวยของประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น
11.       การ์ตูน (Cartoon) และการ์ตูนเรื่อง (Comics) วาดบนกระดาษเป็นสิ่งดึงดูดใจคนได้มากทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยเด็ก นับว่าเป็นสิ่งที่ให้ความรู้และความบันเทิง
12.       แผนภูมิ (Pcharts) เป็นวัสดุที่ใช้แสดงความสัมพันธ์ของเรื่องราวหรือแนวคิดต่างๆ โดยใช้ภาพสัญลักษณ์ ตัวเลข และตัวอักษรประกอบเข้าด้วยกัน เช่น แผนภูมิแสดงความสัมพันธ์ของการจัดการบริหารในหน่วยงาน เป็นต้น
13.       แผนภาพ (Diagrams) เป็นวัสดุที่ใช้แสดงโครงสร้างและความสัมพันธ์ภายในโครงสร้างของวัสดุหรือกระบวนการ โดยใช้ลายเส้นและสัญลักษณ์แสดง และมีคำบรรยายประกอบ เช่น แผนภาพแสงการร้อยฟิล์มในเครื่องฉายภาพยนตร์
14.       โปสเตอร์ (Posters) เป็นแผ่นกระดาษอาจจะหนาหรือบางก็ได้มีขนาดต่างๆ กัน มักมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าในแนวตั้งหรือแนวนอนโปสเตอร์มักจะประกอบด้วยข้อความสั้น สื่อความหมายเข้าใจได้ง่ายๆและรวดเร็ว
15.       แผ่นพับ (Folders) เป็นเอกสารแผ่นพับขนาดประมาณ 4 นิ้ว คูณ 9 นิ้ว ส่วนมากจะพิมพ์ด้วยกระดาษค่อนข้างดี เป็นกระดาษแผ่นเดียวกัน แต่พับเป็นเล่มยาวหนาตั้งแต่ 4-8 หน้า มีขนาด และรูปแบบไม่ตายตัว
16.       แผนที่ (Maps) เป็นวัสดุที่ใช้แสดงลักษณะพื้นผิวโลกและสื่อที่ปรากฏบนผิวโลก โดยใช้ภาพ ลายเส้น สี และสัญลักษณ์แสดง ใช้ประโยชน์ในการศึกษาได้หลายวิชา เช่น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ โบราณคดี เป็นต้น
17.       ฟิล์มย่อส่วน (Microflims) ด้วยวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้สามารถที่จะเก็บสิ่งพิมพ์เอาเอาไว้ในลักษณะของการย่อส่วนหรือเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อสะดวกในการเก็บรักษา และสามารถที่จะหยิบนำมาใช้โดยป้อนเข้าไปยังเครื่องอ่านที่เป็นระบบคอมพิวเตอร์ หรือระบบฉายธรรมดาก็ได้ ฟิล์มย่อส่วนที่สำคัญ คือ
17.1      ฟิล์มดัชนีภาพเล็ก (Microflims) เป็นแผ่นพิมพ์แข็งขนาด 4 X 6 นิ้ว ซึ่งภายในจะมีที่มากพอที่จะบรรจุภาพเล็กๆ ได้เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ 60 ถึง 1,000 ภาพเล็กที่ย่อส่วนมาจากหนังสือแต่ละหน้า
17.2      แผ่นดัชนีภาพเล็ก (Microcards) มีลักษณะคล้ายคลึงกับฟิล์มดัชนีภาพเล็กเกือบทุกประการ แผ่นดัชนีภาพเล็กสามารถผลิตด้วยกระดาษแข็ง หรือแผ่นฟิล์มก็ได้
17.3      ฟิล์มย่อส่วน (Microflims) เป็นภาพถ่ายเล็กๆ บนฟิล์มขนาด 35 หรือ 16 มิลลิเมตร เรียงติดต่อกันบนฟิล์มแต่ละแผ่นจะบรรจุภาพถ่ายและเป็นสิ่งที่เก็บไว้ได้นาน เมื่อต้องการใช้เมื่อใดก็หยิบขึ้นมาใช้ได้ทันที
        สรุปได้ว่า ประเภทของสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา ประกอบด้วย หนังสือ ตำรา วารสาร จุลสาร สิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง แผนภาพ แผนที่ ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นมาเพื่อให้ความรู้ ข่าวสาร บันเทิง และประสบการณ์ที่มี ให้ผู้อ่านได้มีความรู้เรื่องนั้น ๆ
1.ประโยชน์ของสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา
        จุมพล  รอดคำดี (2530: 249) ที่ได้กล่าวถึงประโยชน์ของสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา ไว้ดังนี้
1.        ช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนได้ด้วยตนเอง และเรียนได้เมื่อมีเวลาว่างไม่จำเป็นต้องกำหนดเวลาเรียนไว้แน่นอน อีกทั้งยังช่วยให้นักเรียนได้เรียนตามระดับความสามารถและความสนใจ
2.        ประหยัด สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาเป็นอุปกรณ์ที่ประหยัดในแง่เมื่อคิดเปรียบเทียบปริมาณเนื้อหาของต่อจำนวนนักเรียนต่อจำนวนครั้งที่สามารถใช้ได้นับว่าอุปกรณ์ประเภทสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษามีราคาถูกกว่าอุปกรณ์ประเภทอื่นๆ มาก
3.        เป็นโครงสร้างพื้นฐานของการเรียนการสอนในแง่ที่ช่วยสร้างประสบการณ์ร่วมให้นักเรียนโดยอาศัยการอ่านเป็นสำคัญ อีกทั้งช่วยให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมเดียวกัน ตอบคำถามชุดเดียวกัน สิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาที่ดีควรแบ่งออกเป็นหน่วยย่อย เพื่อให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนได้ง่ายขึ้น
4.        ช่วยในการเพิ่มพูนความสามารถ คือ การอ่านบ่อย ๆ ช่วยให้ภาษาดีขึ้นมีความรู้มากขึ้น สามารถชั่งน้ำหนักข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพราะจะนำไปสู่แนวทางในการแก้ปัญหาที่ดี การเรียนไม่ควรมุ่งการจำเนื้อหาเพียงอย่างเดียว แต่ควรมุ่งให้นักเรียนคิดตามแนวคำถามที่สร้างขึ้นตลอดจนองเห็นความสำคัญของรายชื่อหนังสืออ้างอิงที่ควรอ่านเพิ่มพูนต่อๆไปด้วย
5.        ช่วยปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น ชี้ให้เห็นโครงสร้างของการเรียนการสอนแต่ละวิชา การแสดงแนวการสอนออกมาในรูปของสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาช่วยให้ครูมองเห็นจุดเด่นและจุดด้อยของวิชาที่ตนสอนได้ง่าย และจะเป็นแนวทางไปสู่การปรับปรุงที่ดีขึ้น
6.        เก็บรักษาง่าย ปรับขนาดเพื่อเก็บรักษาได้มากกว่าสื่ออื่น อายุของกระดาษที่ผลิตในปัจจุบันนี้ค่อนข้างคงทนถาวร เสื่อมสลายช้า ทำให้ข้อมูลที่บันทึกเอาไว้สามารถเก็บไว้ใช้ประโยชน์ได้นาน
7.        มีน้ำหนักเบากว่าสื่อประเภทอื่น พกพาไปมาสะดวก การขนส่งไม่ลำบาก
8.        อักษรหรือภาพที่พิมพ์สามารถนำมาพิสูจน์อ้างอิงได้ง่าย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่ออาการเพิ่มพูนความรู้และเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่คนสมัยก่อนถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนความรู้ต่าง ๆ แก่คนรุ่นหลัง
9.        นักเรียนต้องอ่านออก เขียนได้ นอกจากนั้นต้องมีทักษะในการอ่าน ตีความรหัส หรือตลอดจนกระทั่งภาพที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารในปัจจุบันจะมีใช้การภาษาแปลกๆไปจากหลักภาษาหรือหลักไวยากรณ์ ซึ่งนักเรียนมีความคุ้นเคยกับภาษาเหล่านี้จะเรียกว่า ภาษาเพื่อการสื่อสาร
10.       สามารถตีกรอบความคิดได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่กำลังอ่าน
11.       กระบวนการในการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาสามารถทำได้หลายรูปแบบ เปิดโอกาสให้เลือกวิธีผลิตที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ๆ เช่น พิมพ์เป็นเอกสารโรเนียวเป็นวิธีง่ายที่สุดหากต้องการให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นก็ใช้การพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ ซึ่งสามารถเลือกพิมพ์สีหรือขาวดำก็ได้
12.       สามารถจัดพิมพ์ได้หลายรูปแบบตามวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้ เช่น แผ่นปลิว จดหมายเวียนหรือเอกสารเผยแพร่
13.       สามารถใช้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาได้หลายทาง อาจใช้เป็นสื่อการศึกษาด้วยตัวของมันเองหรือใช้สนับสนุนสื่ออื่น ๆ ได้ เช่น ใช้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาในการรณรงค์ สามารถเลือกจัดพิมพ์ให้มีระยะเวลาใช้งานต่าง ๆ กัน เช่น เพื่อใช้งานระยะสั้น อ่านแล้วทิ้ง หรือเก็บไว้ใช้อย่างถาวร สามารถออกแบบให้ใช้เฉพาะบุคคล ใช้เป็นกลุ่มก็ได้
14.       การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาสามารถปรับให้เหมาะสมกับกระบวนการใช้และผลลัพธ์ที่ต้องการตามสภาพของเครื่องอำนวยความสะดวก
15.       สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาสามารถผลิตเพื่อใช้ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะด้านได้
16.       การใช้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาเป็นไปอย่างอิสระในการศึกษา สิ่งพิมพ์ไม่จำเป็นต้องใช้ห้องพิเศษหรือเครื่องอำนวยความสะดวกอย่างอื่นเข้าช่วยแต่อย่างใด
17.       นักเรียนสามารถใช้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาด้วยตนเองของเขาเองในเวลาที่เขาต้องการ สามารถเรียนรู้และอ่านซ้ำๆ กันได้หลายเที่ยว
        สุรัตน์  นุ่มนนท์ (2539: 43 อ้างถึงใน ศศิธร บัวทอง 2549: 49-50) ได้กล่าวไว้ว่า สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษามีส่วนช่วยในการดำรงชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากยุคที่ปราศจากสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา มนุษย์สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อนำไปประกอบอาชีพด้วยการเรียนรู้จากสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา อาศัยการถ่ายทอดจากสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาต่างๆ เป็นเครื่องชี้นำในการทำงานมนุษย์เลียนแบบกันด้วยอาศัยสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาเป็นเครื่องมือถ่ายทอดข่าวสาร และ ความรู้ต่างๆ รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาสังคมในด้านต่างๆ ด้วย สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษามีประโยชน์ ดังนี้
1.        ช่วยให้นักเรียนมีความรู้กว้างขวางขึ้น ข่าวและสารคดีบางเรื่องอาจช่วยเสริมสร้างและเพิ่มพูนความรู้ในวิชาที่เรียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
2.        ช่วยปลูกฝังนิสัยให้เป็นคนรักการอ่านมีความกระตือรือร้นที่จะค้นหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ
3.        ช่วยให้นักเรียนมีความคิดวิจารณ์เนื้อหาและเรื่องราวต่าง ๆ จากการอ่านและก่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มีความเชื่อมั่นในตนเอง
4.        ทำให้ทราบความเคลื่อนไหวและการค้นคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ และให้ความรู้รอบตัว
5.        วิจารณ์ข่าวเพื่อให้นักเรียนได้รับความคิดเห็นต่าง ๆ
6.        เป็นบทเรียนให้คติสอนใจ โดยให้นักเรียนได้ศึกษาและตรวจจากข่าวที่นำเสนอ นับเป็นบทเรียนที่ไม่มีในหลักสูตร
7.        ใช้วิเคราะห์เหตุการณ์ในขณะนั้น
        สรุปได้ว่า ประโยชน์ของสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา ช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เป็นอิสระในการค้นคว้า ในเวลาที่ต้องการ สามารถเรียนรู้และอ่านซ้ำๆ กันได้หลายเที่ยว เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้ และกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเผยแพร่ ในการผลิตหรือจัดหานับว่าสื่อสิ่งพิมพ์มีราคาถูกกว่าสื่อชนิดอื่น ๆ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว อีกทั้งยังเก็บรักษาไว้ได้เป็นเวลานาน การดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก

2.  หนังสือเรียน

ผู้วิจัยได้ศึกษาเกี่ยวกับหนังสือเรียน ครอบคลุม (1) ความหมายและความสำคัญของหนังสือเรียน (2) บทบาทของหนังสือเรียน (3) ส่วนประกอบของหนังสือเรียน (4) เทคนิคการจัดหนังสือเรียน และ (5) ลักษณะของหนังสือเรียนที่ดี
2.1  ความหมายและความสำคัญของหนังสือเรียน
        2.1.1   ความหมายของหนังสือเรียน
                    ความหมายของคำว่า “หนังสือเรียน” มีหลายท่านได้ให้ความหมายไว้หลายท่าน ดังนี้
                    กรมวิชาการ (2545: 70-71) ได้กล่าวไว้ว่า หนังสือเรียน หมายถึง หนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อให้นักเรียนใช้เป็นสื่อหลักประจำรายวิชาและประจำชั้นเรียนช่วงหนึ่งของปีการศึกษา มีเนื้อหา
                    สาระครบถ้วนตามหลักสูตรที่ระบุไว้ในคำอธิบายรายวิชา มีการนำเสนอหรือเรียบเรียงในลักษณะที่คาดหวังได้ว่านักเรียนสามารถใช้ศึกษาให้บรรลุผลตามจุดประสงค์การเรียนรู้ในรายวิชานั้นได้ หนังสือเรียนประจำวิชา อาจมีหลายสำนวน คือ มีฉบับที่เป็นของกระทรวงศึกษาธิการสำนวนหนึ่ง และฉบับที่เป็นของสำนักพิมพ์เอกชนที่กระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้ใช้ได้ในโรงเรียนอีกหลายสำนวนจะเลือกใช้สำนวนใดสำนวนหนึ่งขึ้นอยู่กับสถานศึกษา เห็นว่ามีคุณภาพเหมาะสมกับนักเรียนของตน
                    นภาลัย  สุวรรณธาดา และคณะ (2553: 3) ได้กล่าวไว้ว่า หนังสือเรียน หมายถึง เอกสารทางวิชาการที่เขียนเพื่อเผยแพร่ความรู้ไปสู่วงวิชาการ และ / หรือผ่านทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของหลักสูตร หรือต้องนำมาประกอบการเรียนการสอนในวิชาใดวิชาหนึ่ง ทั้งนี้จะต้องเป็นเอกสารที่เรียบเรียงขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ มีหลักฐานทางวิชาการที่มั่นคงและให้ทัศนะของผู้เขียนที่สร้างเสริมปัญญา ความคิด และ สร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการให้แก่สาขาวิชานั้น ๆ หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวเนื่อง ในบางกรณีผู้เขียนอาจเสนอหนังสือมาในรูปของสื่ออื่น ๆ เช่น ซีดีรอม หรืออาจใช้ทั้งเอกสารหรือสื่ออื่น ๆ ประกอบกันไปตามความเหมาะสม
                    วีระวรรณ  วรรณโท (2555: ออนไลน์) ได้กล่าวว่า หนังสือ หมายถึง สิ่งพิมพ์ที่เกิดจากความรู้ ความคิด ประสบการณ์ สติปัญญา และความฉลาดรอบรู้ ของมนุษย์
                    สรุปได้ว่า หนังสือเรียนเป็นเอกสารทางวิชาการที่จัดทำขึ้นเพื่อให้นักเรียนใช้เป็นสื่อหลักประจำรายวิชา มีสาระครบถ้วนตามหลักสูตร มีหลักฐานทางวิชาการที่มั่นคงและให้ทัศนะของผู้เขียนที่เสริมสร้างปัญญา ความคิด และความแข็งแกร่งทางวิชาซึ่งเกิดจากความรู้ ความคิด ประสบการณ์ สติปัญญา และความฉลาดรอบรู้ของมนุษย์
        2.1.2   ความสำคัญของหนังสือเรียน
                    นพคุณ  คุณาชีวะ (2531: 40) ได้กล่าวถึงความสำคัญของหนังสือเรียนไว้ดังนี้
1.        เป็นอุปกรณ์ราคาถูก ซึ่งนักเรียนส่วนมากพอจะจัดหาไว้ใช้ส่วนตัว ช่วยให้สามารถเรียนรู้เนื้อหาได้ครบถ้วนและสมบูรณ์
2.        เป็นแหล่งความรู้ที่ถูกต้อง เพราะได้รับการตรวจคุณภาพจากกระทรวงศึกษาธิการก่อนอนุญาตให้มีการจัดเนื้อหาวิชาอย่างเป็นระเบียบและสัมพันธ์ต่อเนื่อง ช่วยให้วางแผนการเรียนการสอนได้ง่ายและสอดคล้องกับหลักการเรียน
3.        เป็นสื่อกลางในการเรียนการสอนระหว่างครูกับนักเรียน ช่วยให้เข้าใจเนื้อหาได้ตรงกัน
4.        เป็นแหล่งวิชาการที่นักเรียนสามารถหาความรู้เพิ่มเติม ใช้ทบทวนความรู้ ช่วยให้นักเรียนศึกษาเป็นรายบุคคลได้ดี
5.        เป็นแหล่งข้อมูลที่ให้คำตอบในปัญหาต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับขอบเขตกระบวนการวิชานั้น ๆ เหมาะกับระดับความรู้ของนักเรียน
6.        ช่วยเสนอแนะแนวทางต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน
7.        เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เกิดหนังสืออื่น ๆ เช่น หนังสือเสริมประสบการณ์หนังสือแบบฝึกหัด คู่มือครู เป็นต้น
                    ประพิมพ์พรรณ  โชควัฒนกุล (2531: 110) ได้กล่าวถึงความสำคัญของหนังสือเรียนไว้ดังนี้
1.        มีขอบข่ายเนื้อหาตรงตามหลักสูตรช่วยให้ครูสอนนักเรียนได้ครบตามที่หลักสูตรวางไว้
2.        เป็นสื่อกลางที่มีคุณค่าระหว่างครูกับนักเรียน ทำให้เข้าใจเรื่องเดียวกันไปในแนวเดียวกัน
3.        มีการเรียงลำดับของเนื้อหาจากง่ายไปหายาก จากสิ่งที่เหมือนกันไปสู่ที่ต่างกัน จากสิ่งที่รู้ไปหาสิ่งที่ไม่รู้ จากรูปธรรมไปหานามธรรม ทำให้การเรียนการสอนเป็นไปตามลำดับขั้น
4.        ควรเตรียมพร้อมนักเรียน โดยให้ข้อมูลเบื้องต้นทั้งด้านข้อเท็จจริง ความคิดรวบยอดและหลักสูตร เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาล่วงหน้าก่อนเรียนและใช้ทบทวนความรู้เมื่อเรียนแล้ว
5.        เป็นสื่อการเรียนการสอนที่สนองความแตกต่างระหว่างบุคคลนักเรียนได้เรียนตามความสามารถของบุคคล
6.        เป็นสื่อการเรียนการสอนที่ประหยัด มีราคาถูก และใช้ได้หลายครั้ง
                    ศุภชัย  หายชัย (2555: ออนไลน์) ได้กล่าวไว้ว่า หนังสือเรียนเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตขึ้นเพื่อให้นักเรียนเรียน ดังนั้นส่วนประกอบต่างๆของหนังสือ ต้องเหมาะสมกับความรู้และวัยของนักเรียน กล่าวคือหนังสือเรียน เป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้อ่านและเรียนรู้จากเนื้อหาสาระที่มุ่งให้ความรู้หรือความเพลิดเพลิน เพื่อเพิ่มพูนความสามารถในการอ่านและเกิดนิสัยรักการอ่าน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ
1.        ช่วยให้นักเรียนได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน
2.        ช่วยสร้างจิตนาการ และความคิดสร้างสรรค์
3.        ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ทางด้านภาษาของนักเรียน
4.        ช่วยปลูกฝังคุณธรรมเจตคติและแบบอย่างที่ดี
5.        ช่วยเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจให้กับนักเรียน
                    สรุปได้ว่า หนังสือเรียนเป็นอุปกรณ์ที่ราคาถูกที่รวบรวมความรู้ทางวิชาการ มีขอบข่ายที่จัดไว้ตรงหลักสูตร เรียงจากง่ายไปหายาก มีความสำคัญต่อการศึกษาในการช่วยให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ ปลูกฝังเจตคติที่ดี เป็นแหล่งศึกษาเพิ่มเติม และตอบสนองความแตกต่างของนักเรียน
2.2  บทบาทของหนังสือเรียน
        สมพร  จารุนัฎ (2534: 40-43) ได้กล่าวถึงบทบาทของหนังสือเรียนในกระบวนการเรียนการสอนได้จำแนกออกเป็น 5 บทบาท ดังนี้
1.        หนังสือเรียนเป็นเครื่องมือ ที่ครูใช้เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้ ความเข้าใจและเกิดความคิด ทั้งนี้โดยการให้นักเรียนอ่านจากหนังสือเรียนนั่นเอง หนังสือเรียนไม่ได้จัดทำขึ้นสำหรับนักเรียนตามลำพัง แต่สำหรับให้ครูเป็นผู้ช่วย ให้นักเรียนเรียนรู้จากหนังสือเรียน หนังสือเรียนมีลักษณะพิเศษที่จะช่วยให้นักเรียนทำความเข้าใจในสิ่งต่างๆ เป็นขั้นตอน ทีละเล็กทีละน้อยตามลำดับ จนเกิดการเรียนรู้ที่กว้างขวางขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจ ความคิด และทักษะที่แน่ชัด ประกอบด้วยสิ่งที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนหลายประการ ทั้งที่เป็นส่วนประกอบภายนอกหนังสือเช่นสารบัญเรื่อง คำอธิบายศัพท์ยาก และส่วนประกอบภายในหนังสือ เช่น การเรียนจากหนังสือควรมุ่งให้เกิดความรู้ความเข้าใจแก่นักเรียนเป็น 3 ระดับ คือ ความเข้าใจระดับตัวหนังสือ ความเข้าใจระดับตีความและความเข้าใจ และระดับการนำไปใช้
2.        หนังสือเรียนเป็นเครื่องนำ ฐานะเป็นผู้ชี้นำ หนังสือเรียนที่ดีไม่เพียงแต่เสนอข้อเท็จจริง เพื่อให้นักเรียนจดจำได้ หรือใช้ตอบคำถามภายในห้องเรียน หรือตอบข้อสอบได้เพียงเท่านั้น แต่นักเรียนควรได้รับทั้งความรู้ ความคิด ทักษะเจตคติ รวมทั้งความสามารถที่จะนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันด้วย หนังสือจึงมิใช่เพียงเป็นที่รวบรวมข้อเท็จจริง หรือความรู้ต่างๆ ต่อเรียงกันทีละหัวข้อ หรือทีละเรื่องเท่านั้น หนังสือเรียนจะต้องให้แนวทางแก่ผู้อื่นในการศึกษาหาความรู้ พัฒนาความคิด และการนำความรู้ไปใช้ให้ได้ประโยชน์ด้วย
3.        หนังสือเรียนแหล่งประมวลความรู้ ดังได้กล่าวไว้ในข้อ 2 ว่า หนังสือเรียนที่ดีไม่ใช่ประมวลความรู้ที่เป็นข้อเท็จจริงเท่านั้น แต่หนังสือจะต้องเขียนจัดทำขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเรียนการสอนหนังสือเรียนจะต้องผสมผสานความรู้ ทั้งที่เป็นข้อเท็จจริงและเป็นความรู้ที่เป็นความคิดเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสมแม้ว่าความรู้ในหนังสือ จะเป็นความรู้ส่วนหนึ่งในบรรดาสรรพความรู้ในโลก แต่ก็เป็นความรู้จากการเลือกสรร และประมวลเข้าไว้อย่าประณีต เพื่อสนองจุดมุ่งหมายเฉพาะ หนังสือเรียนที่ดี จึงต้องมีลักษณะที่เป็นแหล่งความรู้ที่มีคุณค่าและมีความหมายต่อนักเรียน ซึ่งอาจหาไม่ได้จากหนังสือประเภทอื่นๆ ครูอาจจะต้องเอาใจใส่พิเศษเกี่ยวกับผู้เขียน สำนักพิมพ์ วันเวลาที่พิมพ์ ชื่อหนังสือเรียน สารบัญเรื่อง การนำเสนอเนื้อหา ภาพประกอบ คำถามกิจกรรมเสนอแนะ ฯลฯ เพื่อครูจะได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้
4.        หนังสือเรียนเป็นทางนำไปสู่ความหมายของความจริง ดังได้กล่าวแล้วว่าการศึกษาหาความรู้จากหนังสือเรียน มิใช่เพียงแต่รับรู้ผิวเผินที่ตัวหนังสือบอก แต่จะต้องเข้าใจถึงความหมายอันเป็นความคิดที่แฝงมากับตัวหนังสือด้วย การศึกษาจากการอ่านหนังสือเรียน จึงต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบหลายอย่าง ตั้งแต่ตัวผู้เขียน ความมุ่งหมายของผู้เขียน ตัวผู้อ่าน ความมุ่งหมายในการอ่าน และสภาพแวดล้อมต่างๆ มิฉะนั้นแล้วนักเรียนอาจไม่เกิดการเรียนรู้ตามที่ควรจะเป็นก็ได้ การแสวงหาความหมายในการศึกษาจากหนังสือเรียนจึงสำคัญมาก และเป็นสิ่งที่ครูและนักเรียนจะต้องเข้าใจถึงบทบาทในแง่นี้
5.        หนังสือเรียนเป็นแรงกระตุ้นและแรงบัลดาลใจ ดูเหมือนที่จะเป็นเรื่องธรรมดาที่ครูจะพบปัญหานักเรียนไม่อ่านหนังสือตามที่ครูสั่ง มีนักเรียนไม่กี่คนที่อ่านหนังสือเรียนมาก่อนตามที่ครูมอบหมาย ในที่สุดครูก็ต้องเลิกให้การบ้านที่ให้นักเรียนอ่านหนังสือบทนั้นมาก่อนเวลาเรียนไปเอง การกระตุ้นความสนใจเป็นสิ่งที่จำเป็น นักเรียนไม่ว่าจะอยู่ด้วยวัยใด ระดับใด หรือแม้จะให้เองก็อ่านหนังสือที่ไม่มีอะไรที่น่าสนใจ หนังสือเรียนอาจทำให้น่าสนใจได้ ด้วยการสร้างคุณสมบัติทั้งภายในและภายนอกให้ดึงดูดความสนใจตั้งแต่รูปร่างหน้าตา ตัวหนังสือ สีสัน ภาพประกอบ เรื่อยไปจนถึงการนำเสนอเนื้อหา การตั้งชื่อบท ตอน หัวข้อใหญ่ หัวข้อย่อย คำถาม กิจกรรม เป็นต้น ครูมีบทบาทสำคัญมากในการกระตุ้นให้นักเรียนอ่านหนังสือเรียน และเรียนรู้จากการอ่านหนังสือเรียน
        สรุปได้ว่า หนังสือเรียนมีบทบาทต่อการเรียนในด้านการเป็นเครื่องมือที่ครูใช้ในการสอน เป็นเครื่องชี้นำเพื่อให้นักเรียนได้จดจำ เป็นแหล่งประมวลความรู้เพื่อจุดมุ่งหมายทางการเรียน เป็นทางนำไปสู่ความหมายของความจริงที่แฝงมากับหนังสือ และเป็นแรงกระตุ้นและแรงบันดาลใจในการเรียน
2.3  ส่วนประกอบของหนังสือเรียน
        ผู้วิจัยได้ศึกษาส่วนประกอบของหนังสือเรียน ครอบคลุม (1) ด้านส่วนนำของหนังสือเรียน (2) ด้านเนื้อหาสาระของหนังสือเรียน (3) ด้านกิจกรรมของหนังสือเรียน (4) ด้านส่วนท้ายของหนังสือเรียน  
        2.3.1   ด้านส่วนนำของหนังสือเรียน
                    ผู้วิจัยได้ศึกษา ส่วนนำของหนังสือเรียน ครอบคลุม (1) ปก (2) คำนำ (3) คำชี้แจงในการใช้ (4) แผนผังความคิด (5) สารบัญ (6) การเรียนรู้และตัวชี้วัด (7) แนวคิดสำคัญและ (8) กิจกรรมนำเข้าสู่การเรียน


                    1)  ปกหนังสือ
                          สุรสิทธิ์  วิทยารัฐ (2546: 101-102) และ นภาลัย สุวรรณธาดา และคณะ (2553: 5-6) ได้กล่าวไว้ว่า ปก นั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ปกนอกกับปกใน มีลักษณะดังนี้
1.        ปกนอก ประกอบด้วยปกหน้าและปกหลัง ติดกันด้วยสันหนังสือ มีทั้งชนิดปกอ่อนและปกแข็ง ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และราคาของหนังสือ หน้าที่ของปกมีสองประการ คือ ป้องกันรักษาตัวหนังสือทั้งหมด และให้รายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ ในกรณีที่ไม่มีกระดาษหุ้มปก ปกจะทำหน้าที่เป็นสิ่งชักจูงให้คนอยากซื้อหนังสือได้มากเหมือนกัน ที่หน้าปกจะมีชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง ชื่อผู้จัดพิมพ์ มีประโยชน์ คือ ช่วยยึดตัวเล่มหนังสือให้ติดกัน และช่วยในการให้ความคงทนถาวร ส่วนที่เป็นสันปกก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน จะต้องมีชื่อเรื่องและชื่อผู้แต่ง เพื่อจะสามารถมองเป็นข้อความดังกล่าวได้เมื่อนำหนังสือเข้าตู้แล้ว
2.        ปกใน เป็นหน้าที่สำคัญที่สุดของหนังสือแต่ละเล่มรายละเอียดต่าง ๆจะปรากฏในหน้านี้ คือ ชื่อเต็มของหนังสือ ชื่อรอง ชื่อผู้แต่ง คุณวุฒิของผู้แต่ง ชื่อผู้แต่งร่วม ผู้แปล ผู้รวบรวม ผู้เขียนภาพประกอบ ชื่อสำนักพิมพ์ สถานที่พิมพ์ ครั้งที่พิมพ์ บรรณารักษ์ ใช้รายละเอียดจากหน้านี้ทำบัตรรายการ นอกจากนี้นักเขียนหรือนักเรียนยังได้อาศัยรายละเอียดจากหน้านี้ทำบรรณานุกรมประกอบหนังสือที่ตนแต่งหรือทำรายงาน หรือบทนิพนธ์ ในกรณีปกหน้าฉีกขาด หรือหากห้องสมุดนำหนังสือไปทำปกใหม่ให้แข็งแรงขึ้น
                          สรุปได้ว่า ปกประกอบด้วย ปกนอก มีทั้งชนิดปกอ่อนและปกแข็ง มีหน้าที่ป้องกันรักษาตัวหนังสือทั้งหมด และให้รายะเอียดเกี่ยวกับหนังสือ ปกในเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะบอกรายละเอียดต่างๆ ของหนังสือ เช่น ชื่อหนังสือ ชื่อผู้แต่ง คุณวุฒิของผู้แต่ง เป็นต้น ซึ่งมีประโยชน์ ในการช่วยยึดตัวเล่มหนังสือให้ติดกัน ช่วยในการให้ความคงทนถาวร ระบุชื่อเรื่องและชื่อผู้แต่ง และบอกรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์
                    2)  คำนำ
                          สุรสิทธิ์  วิทยารัฐ (2546: 102) และ นภาลัย สุวรรณธาดา และคณะ (2553: 6-7) ได้กล่าวไว้ว่า คำนำ เป็นส่วนสำคัญของหนังสือที่นักเรียนไม่ควรเปิดผ่านไป เพราะในหน้าคำนำจะบอกให้ทราบถึงความมุ่งหมายในการเขียนหนังสือ สาระสำคัญของเรื่องประโยชน์ที่นักเขียนคาดว่าจะได้รับ และบางทีก็มีการบอกวิธีใช้หนังสือเรื่องนั้นด้วย เพื่ออธิบายให้นักเรียนทราบถึงแรงบันดาลใจหรือสิ่งที่อยากให้ผู้อ่านทราบ ก่อนที่จะเริ่มอ่านเนื้อเรื่อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนอย่างมาก ในหน้าคำนำมักจะลงท้ายด้วยการขอบคุณผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ การกล่าวขอบคุณนั้น ในกรณีมีผู้ที่จะต้องกล่าวคำขอบคุณจำนวนมากราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำปริญญานิพนธ์ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือในการหาข้อมูลจากบุคคลหลายฝ่าย มักจะแยกออกไปจากหน้าคำนำ และเรียกใหม่ว่า หน้าประกาศคุณูปการ หรือ กิตติกรรมประกาศ
                          สมพร  จารุนัฏ (2549: 49) ได้กล่าวไว้ว่า คำนำ คือการกล่าวแนะนำหนังสือแก่นักเขียน โดยทั่วไปแล้วคำนำนักเขียนจะให้ข้อมูลทั่วๆ ไปเกี่ยวกับหนังสือ ที่นักเขียนคิดว่านักเรียนควรจะได้ทราบเสียก่อนที่จะเริ่มอ่าน คำนำอาจจะมีข้อมูลต่อไปนี้
1.        เหตุผลที่นักเรียนหนังสือ (จุดมุ่งหมายในการเขียนหนังสือ)            
2.        นักเรียน หรือกลุ่มเป้าหมาย ที่นักเขียนต้องการเขียนให้อ่าน
3.        ประเด็นที่เขียนต้องเน้นให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และประเด็นสำคัญอื่น ๆ ที่นักเขียนนำมาเสริม
4.        วิธีเรียบเรียงหนังสือของนักเขียน
5.        แหล่งอ้างอิงสำคัญ ๆ ที่นักเขียนใช้ในการเขียน
6.        คำแนะนำในการใช้หนังสือ
7.        ข้อจำกัดหรือจุดอ่อนของหนังสือ
                          สรุปได้ว่า คำนำเป็นส่วนที่สำคัญที่จะบอกให้นักเรียนได้ทราบถึง ความมุ่งหมายในการเขียนหนังสือ สารประโยชน์หรือประเด็นที่ต้องการให้ความสำคัญพิเศษ บอกวิธีการใช้หนังสือ บอกกลุ่มเป้าหมาย วิธีเรียบเรียงหนังสือ แหล่งอ้างอิงสำคัญ ๆ ที่ใช้ในการเขียน และ ข้อจำกัดหรือจุดอ่อนของหนังสือ
                    3)  คำชี้แจงในการใช้
                          คำชี้แจง ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 (2546: 270) ได้ให้ความหมายไว้ว่า ก. พูดขยายความให้เข้าใจชัดเจน
                          เฟิร์สแบรียนดอทคอม (2555: ออนไลน์) ได้กล่าวไว้ว่า วัตถุประสงค์ของการเขียนคำชี้แจง (1) เพื่อป้องกันหรือแก้ไขความเข้าใจผิด (2) เพื่อแนะนำหรืออธิบายขั้นตอนในการปฏิบัติงานเรื่องใดเรื่องหนึ่ง (3) เพื่อแสดงเหตุผล ความจำเป็น หรือข้อเท็จจริง สิ่งที่เกิดขึ้นให้นักเรียนเข้าใจ
                          หลักในการเขียนคำชี้แจง ประกอบด้วย (1) ต้องเขียนคำชี้แจงขยายความในเรื่องนั้นๆ โดยอาศัยหลักการคือ มีข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เหมาะสมสนับสนุนอย่างหนักแน่นไม่ใช่เขียนขึ้นมาลอยๆ (2) ในการเขียนคำชี้แจงขยายความในตอนแรกให้หาเหตุผลข้อเท็จจริงมาสนับสนุนเรื่องที่จะเขียนชี้แจงนั้นก่อนและในตอนท้ายให้มีข้อความสรุปเสมอ (3) การใช้ภาษาในการเขียนคำชี้แจงจะต้องมีถ้อยคำ ซึ่งจะเป็นต้องนำเสนอมาใช้ได้แก่ คำว่า “ เพราะว่า ...” “ เพราะฉะนั้น...” “ โดยที่...” “ ฉะนั้น...” และ (4) ถ้าคำชี้แจงนั้นมีเนื้อหาเป็นข้อๆ เพื่อผู้อ่านจะไม่สับสน
                          สรุปได้ว่า คำชี้แจงในการใช้ เป็นการขยายความให้เข้าใจชัดเจน ช่วยป้องกันหรือแก้ไขความเข้าใจผิด ช่วยแนะนำขั้นตอนในการศึกษา แสดงเหตุผลและความจำเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นให้นักเรียนเข้าใจ
                    4)  แผนผังความคิด
                          ไสว  ฟักขาว (2544: 616) ได้กล่าวถึงแผนผังความคิดไว้ว่า เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ที่ใช้ในการช่วยนักเรียนในการเชื่อมโยงสารสนเทศต่างๆเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งระหว่างความคิดหลัก ความคิดรอง และความคิดย่อยที่เกี่ยวข้องให้เห็นเป็นรูปธรรมในลักษณะแผนภาพ แผนผังความคิด เป็นการนำทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับสมองไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด การเขียนแผนผังความคิด นั้นเกิดจากการใช้ทักษะทั้งหมดของสมอง เป็นการระดมพลังสมอง จะเป็นการนำความรู้ที่มีอยู่ออกมาใช้ทำให้นักเรียนมีความรู้สึกอิสระในทางความคิด ไม่ต้องกังวลว่าสิ่งที่คิดออกมามีความสัมพันธ์กับประเด็นที่วางไว้หรือไม่ จะถูกหรือผิด เพราะเป็นการคิดขั้นต้น แผนผังความคิดจึงเป็นการทำงานร่วมกันกับสมองด้านซ้ายและสมองทางด้านขวาสมองทางด้านซ้ายจะทำหน้าที่ในการวิเคราะห์คำ สัญลักษณ์ ส่วนสมองทางด้านขวาจะทำหน้าที่ในการวิเคราะห์คำ สัญลักษณ์ ส่วนสมองทางด้านขวาจะทำหน้าที่ในการสังเคราะห์รูปแบบ สี รูปร่าง
                          อุดม  เชยกวีวงศ์ (2545: 147-148) ได้กล่าวถึงแผนผังความคิดไว้ว่า เป็นวิธีการช่วยจดบันทึกความคิดเพื่อให้เห็นภาพความคิดที่หลากหลายมุมมองที่กว้างชัดเจนกว่าการบันทึกที่เราคุ้นเคยโดยยังไม่จัดระเบียบความคิดใดๆทั้งสิ้น เป็นวิธีการที่สอดคล้องกับโครงสร้างของการคิดของมนุษย์ที่บางช่วงสมองจะกระโจนออกนอกทางขณะที่กำลังคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การทำให้สมองได้คิด ได้ทำงานตามธรรมชาตินั้น มีลักษณะเหมือนต้นไม้ที่กำลังแตกกิ่งก้านออกไปเรื่อยๆ
                          บูซาน (Buzan J.2003) และ เยาวลักษณ์ อู่ทรงธรรม (2550: 33-37) ได้กล่าวถึงแผนผังความคิดไว้ว่า เสมือนกระจกที่สะท้อนการคิดรอบทิศทางของเราออกให้รับรู้ ทำให้เข้าใจในระบบความคิดของตนเองและทำให้เกิดอิสระในการคิด การเขียนแผนที่ความคิดได้รอบทิศไม่มีที่สิ้นสุด ในการสร้างแผนผังความคิดต้องสร้างจากการทำงานประสานกันของสมองทั้งสองซีก ทั้งนี้ยังได้สรุปคุณลักษณะเฉพาะของแผนผังความคิดไว้ 4 ดังต่อไปนี้
1.        ประเด็นที่สนใจได้รับการสร้างภายในตรงกลาง
2.        หัวข้อของประเด็นอยู่รอบภาพตรงกลางทุกทิศทาง เสมือนกิ่งก้านของต้นไม้
3.        กิ่งก้านประกอบด้วยภาพหรือคำสำคัญที่เขียนบนเส้นที่โยงใยกัน ส่วนคำอื่นๆ ที่มีความสำคัญรองลงมาจะถูกเขียนในกิ่งก้านที่แตกออกลำดับต่อไป
4.        กิ่งก้านจะถูกเชื่อมโยงกันในลักษณะและความสำคัญของประเด็นต่างๆ
                        สรุปได้ว่า แผนผังความคิด เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงระหว่างความคิดหลักและความคิดรองช่วยให้นักเรียนมีอิสระในความคิด มีความคิดหลากหลายมุมมอง และเป็นวิธีการที่ช่วยให้คิดได้ตามธรรมชาติ
                    5)  สารบัญ
                          สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ (2546: 102) และ นภาลัย สุวรรณธาดา และคณะ (2553: 7) ได้กล่าวไว้ว่า สารบัญเป็นรายชื่อของบทและเรียงตามลำดับเพื่อบอกแก่นักเรียนว่าในหนังสือเล่มนั้นประกอบด้วยบทและเรื่องใดบ้าง แต่ละเรื่องอยู่หน้าใด เพื่อให้ผู้อ่านเปิดหาได้สะดวก การออกแบบจึงควรให้สะดวกแก่การเปิดหาได้โดยง่าย มีลักษณะสบายตา สารบัญ คำนี้อาจเรียกได้เป็นสองอย่าง คือ สารบัญ หรือ สารบาญ หน้านี้จะมีคำว่า สารบัญ อยู่กลางหน้ากระดาษ ส่วนข้อความจะมีอยู่สองแถว คือ แถวซ้ายมือบอกเรื่องต่างๆ ในเนื้อหา เป็นบทๆ หรือตอนๆ ไป ส่วนทางขวามือบอกเลขหน้าตามเนื้อหาทางซ้ายมือ หน้าสารบัญมีประโยชน์แก่นักเรียนมาก ช่วยให้ทราบว่าหนังสือเล่มนี้มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับอะไร แบ่งเป็นบทเป็นตอนอย่างไร และตอนไหนอยู่หน้าไหน สะดวกในการเปิดหาอีกด้วย อีกประการหนึ่ง หากนักเรียนไม่มีความประสงค์จะอ่านหนังสือนั้นทั้งเล่มก็อาจเลือกอ่านเพียงบางตอนได้ โดยดูจากสารบัญนี้เอง
                          สมพร จารุนัฏ (2549: 49) ได้กล่าวไว้ว่า สารบัญ เป็นอีกส่วนหนึ่งของหนังสือ ช่วยบอกเค้าโครงเรื่องหรือเค้าโครงเนื้อหาของหนังสือนั่นเอง จะประกอบด้วยรายหัวข้อเรื่องซึ่งเห็นหัวข้อหลัก และหัวข้อรองที่จะปรากฏในหนังสือ สารบัญจะแสดงให้เห็นการเรียบเรียงหนังสือ แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างหัวข้อแต่ละหัวข้อ และแสดงให้เห็นด้วยว่าแต่ละหัวข้อมีความสำคัญมากน้อยต่างกันอย่างไร อยู่หน้าที่เท่าไหร่
                          สรุปได้ว่า สารบัญเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียน เพราะช่วยบอกหัวข้อ บท และเรื่องต่างๆ ที่มีอยู่ในสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียน ช่วยบอกเลขหน้าของหัวข้อเหล่านั้น แสดงให้เห็นถึงการเรียบเรียงหนังสือแสดงความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละหัวข้อมีการออกแบบให้อ่านง่ายและสบายตา และ สะดวกในการค้นหา
                    6)  การเรียนรู้และตัวชี้วัด
                          อภิศันย์  ศิริพันธ์ (2555: ออนไลน์) ได้กล่าวไว้ว่า การเรียนรู้และตัวชี้วัด เป็นขั้นตอนที่กำหนดไว้ตามระบบประเมินผล จะกำหนดให้ส่วนราชการระดับกรมจะเป็นผู้จัดทำเอกสารสรุปรายละเอียดตัวชี้วัด แต่การเสนอแนะให้คณะทำงานจัดทำคำรับรองและประเมินผล ฯ ศึกษาและทำความเข้าใจวิธีการจัดทำรายละเอียดตัวชี้วัด เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการและขั้นตอนการจัดทำประเด็นและรายละเอียดข้อมูลที่ควรจะต้องปรากฏอยู่ในเอกสารสรุปรายละเอียดตัวชี้วัด และคณะทำงานจัดทำคำรับรองและประเมินผลฯ จะได้นำความรู้ที่ได้นี้ไปประยุกต์ใช้กับการตรวจสอบรายละเอียดตัวชี้วัด และการจัดทำรายงานสรุปผลการตรวจสอบรายละเอียดตัวชี้วัดต่อไป
                          วัตถุประสงค์ของการจัดทำการเรียนรู้และตัวชี้วัด ดังนี้
1.        เป็นวิธีการในการระบุรายละเอียดของการนำตัวชี้วัดไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ โดยการกำหนดตัวชี้วัดจะต้องมีความชัดเจนในการกำหนดนิยาม สูตรการคำนวณ ตลอดจนเงื่อนไข การวัดผล เพื่อสื่อสารให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าใจว่าต้องการให้เกิดผลอะไร และจะวัดผลอย่างไร
2.        เพื่อระบุรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดและการประเมินผล เช่น คำนิยาม น้ำหนักตัวชี้วัด สูตรการคำนวณผลงาน รอบระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูลสำหรับการประเมินผล เงื่อนไขการพิจารณาคะแนนเชิงคุณภาพ และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัด ตามที่ได้มี การตกลงกันไว้ในการเจรจาคำรับรองของส่วนราชการ
3.        เพื่อให้ส่วนราชการและคณะทำงานจัดทำคำรับรองและประเมินผลฯ ผู้ทำหน้าที่ผู้ประเมินมีความเข้าใจรายละเอียดตัวชี้วัดและวิธีการประเมินผลได้ถูกต้องตรงกัน ซึ่งจะช่วยให้การปฏิบัติราชการและการประเมินผลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
                          สรุปได้ว่า การเรียนรู้และตัวชี้วัดเป็นขั้นตอนที่กำหนดไว้ตามระบบประเมินผล เพื่อจะได้นำความรู้ไปใช้ในการตรวจสอบและจัดทำรายงานสรุปต่อไป ทั้งยังช่วยเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการและขั้นตอนการประเมิน ช่วยบอกแนวทางในการนำไปสู่ผลสำเร็จและวิธีการวัดผล
                          ช่วยให้ทราบถึงสูตร ระยะเวลา และเงื่อนไขในการประเมิน และช่วยให้เข้าใจในเกณฑ์การประเมินตรงกัน
                    7)  เป้าหมายการเรียนรู้
                          นภาลัย  สุวรรณธาดา และคณะ (2553: 11) ได้กล่าวไว้ว่า เป้าหมายการเรียนรู้ หรือ วัตถุประสงค์ เป็นความประสงค์ของผู้เขียนที่จะให้ผู้อ่านมีพฤติกรรมเช่นใด ถ้าเป็นตำราและเอกสารทั่วไป ผู้เขียนควรกำหนดวัตถุประสงค์ไว้อย่างน้อยก็ในใจตนเอง ถ้าเป็นตำราและเอกสารที่ใช้ในการเรียนการสอน จำเป็นต้องกำหนดวัตถุประสงค์ไว้อย่างละเอียด เพราะจะโยงไปสู่การประเมินผลการเรียนของนักเรียน และประเมินผลการสอนของครูด้วยว่า บรรลุเป้าหมายหรือไม่เพียงใด ถ้าไม่บรรลุก็จะได้ย้อนกลับไปพิจารณาปรับปรุงเนื้อหาวิธีการสอน วิธีการเขียน ตลอดจนวิธีการประเมินผลต่อไป
                          วัตถุประสงค์มี 2 ระดับ คือ วัตถุประสงค์ทั่วไป และวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมวัตถุประสงค์ทั่วไป จะกำหนดไว้กว้างๆ ส่วนวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมจะเฉพาะเจาะจงไปว่าต้องการวัดพฤติกรรมกลุ่มใด ระดับของนักเรียน อาทิ กลุ่มพุทธิพิสัย มีระดับความจำ ความเข้าใจ การประยุกต์ใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า การเขียนวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมจะใช้คำที่แสดงพฤติกรรมอย่างชัดเจน เช่น ระบุได้ อธิบายได้ เปรียบเทียบได้ สรุปได้ เป็นต้น
                          สรุปได้ว่า เป้าหมายการเรียนรู้ หรือวัตถุประสงค์ เป็นความประสงค์ของผู้เขียนที่จะให้นักเรียนมีพฤติกรรมตามที่กำหนดไว้ ช่วยโยงไปสู่การประเมินผลของนักเรียนช่วยประเมินการสอนว่า บรรลุเป้าหมายหรือไม่ ช่วยให้รู้วิธีปรับปรุงวิธีการสอน และการประเมินช่วยระบุพฤติกรรมที่ได้จากการอ่านได้ชัดเจน และช่วยเจาะจงถึงกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจน
                    8)  แนวคิดสำคัญ
                          นภาลัย สุวรรณธาดา และคณะ (2553: 11) ได้กล่าวไว้ว่า แนวคิด เป็นข้อความที่แสดงแก่น หรือเป้าหมายเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เอาให้ได้ข้อสรุปและรวมข้อแตกต่างเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ โดยครอบคลุมข้อเท็จจริง กฎ ทฤษฎี ประเด็นการสรุปสาระสำคัญ และข้อความที่มีลักษณะรวบยอด การกำหนดแนวคิดจะมี 2 ลักษณะ คือ แนวคิดกว้างหรือแนวคิดใหญ่ สำหรับบทใหญ่ๆ และแนวคิดย่อย สำหรับตอนหรือหัวเรื่องที่แยกจากบทใหญ่
                          ผู้เขียนไม่ว่าจะเขียนตำราหรือเอกสารใด ๆ ก็ตาม ควรกำหนดแนวคิดสำคัญให้ชัดเจน โดยเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในหนังสือ หรืออย่างน้อยก็บันทึกไว้เป็นเครื่องเตือนใจ เพื่อให้ตระหนักว่าตนเองมีความรู้ความคิดในเรื่องที่จะเขียนให้กระจ่างแจ้งเพียงใด เพราะถ้ายังไม่กระจ่างแจ้ง จะไม่สามารถกำหนดแนวคิดสำคัญได้ชัดเจน ถ้าตนเองยังไม่มีแนวคิดสำคัญชัดเจนจะเขียนให้นักเรียนเข้าใจได้อย่างไร นอกจากนี้ แนวคิดสำคัญเป็นเสมือนกรอบให้เดินทางไปในเส้นทางและขอบเขตของเนื้อหาที่แม่นตรง ไม่สับสนหรือแวะออกนอกลู่นอกทาง เพราะในการเขียนผู้ที่มีความรู้มากมักอดไม่ได้ที่จะอธิบายความสืบต่อไปเรื่องราวอื่น ๆ เกินเลยไป จนอาจลืมที่จะวกกลับเรื่องที่ตั้งใจแต่เดิม หรือยืดยาวเกินความจำเป็น
                          สรุปได้ว่า แนวคิดสำคัญ เป็นการแสดงถึงแก่น หรือเป้าหมาย ให้ได้ข้อสรุปและรวมข้อแตกต่างเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ครอบคลุมข้อเท็จจริง กฎ ทฤษฎี ประเด็นการสรุปสาระสำคัญ และข้อความที่มีลักษณะรวบยอด มีการกำหนดไว้ชัดเจน เป็นลายลักษณ์อักษร ช่วยให้เข้าใจเนื้อหาอย่างคร่าว ๆ และเป็นกรอบในการศึกษาเนื้อหา


        2.3.2   ด้านเนื้อหาสาระของหนังสือเรียน
                    ผู้วิจัยได้ศึกษา เนื้อหาสาระของหนังสือเรียน ครอบคลุม (1) การวางโครงเรื่อง (2) เนื้อหาสาระ (3) ภาษาที่ใช้ (4) ตัวอักษร และ(5) ภาพประกอบ
                    1)  การวางโครงเรื่อง
                          ปรีชา ช้างขวัญยืน (2551: 70) ได้กล่าวถึงการวางโครงเรื่องว่ามีขั้นตอนในการวางโครงเรื่อง ดังนี้
1.        กำหนดประเด็นใหญ่และประเด็นย่อย การกำหนดประเด็นใหญ่ ประเด็นย่อย ก็เพื่อจำแนกไปแบ่งเป็นหัวข้อใหญ่และหัวข้อย่อย ตามประเด็นที่วางไว้
2.        ลำดับหัวข้อ การลำดับหัวข้อ อาจเลือกลำดับตัวแบบใดก็ได้ตามความเหมาะสมกับข้อมูลความรู้ที่เรามีอยู่ นำหัวข้อมาเรียนกัน หัวข้อใหญ่จะมีมากหรือน้อยขึ้นกับประเภทตำรา       
3.        แบ่งหัวข้อใหญ่ออกเป็นหัวข้อย่อย การแบ่งหัวข้อใหญ่นั้นพิจารณาว่า หัวข้อย่อย แต่ละหัวข้อต้องเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนหัวข้อใหญ่ในแง่ใดแง่หนึ่ง เช่น เป็นคำอธิบาย เหตุผล เป็นขั้นตอนหนึ่ง หรือองค์ประกอบส่วนหนึ่ง เป็นต้น
4.        จัดหัวข้อทุกหัวข้อให้มีน้ำหนักใกล้เคียง แต่ละหัวข้อควรมีน้ำหนักและความสำคัญใกล้เคียงกัน น้ำหนักนั้นดูจากปริมาณของเนื้อหา ความสำคัญดูจากความเกี่ยวข้องของเนื้อหาของหัวข้อนั้นกับหัวข้อใหญ่ว่ามีหน้าที่อย่างเดียวกันหรือสำคัญพอพอกัน นอกจากนั้นยังมีการจัดหัวข้อ โดยใช้หลักการเดียวกัน ก็ต้องเรียงลำดับแบบเดียวกันอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เช่น ถ้าเรียงลำดับหัวข้อแรกว่า เหตุการณ์ ความคิด การสร้างสรรค์ หัวข้อต่อไปถ้ามีการเรียงลำดับสามเรื่องนี้ต้องไม่สลับลำดับ
                          ปรีชา  ช้างขวัญยืน (2551: 60) ได้กล่าวไว้ว่าการวางโครงเรื่องมีประโยชน์หลายประการ คือ
1.        ช่วยแบ่งหัวข้อใหญ่ หัวข้อย่อย ให้ชัดเจนไม่เหลื่อมล้ำกัน การแบ่งหัวข้อใหญ่ หัวข้อย่อยได้ชัดเจน ทำให้ผู้เขียนสามารถเชื่อมโยงหัวข้อย่อยและหัวข้อใหญ่ได้ง่าย
2.        ช่วยให้มองเห็นน้ำหนักเนื้อหาของแต่ละหัวข้อ หัวข้อที่แบ่งไว้ชัดเจน ทำให้สามารถแบ่งหัวข้อในระดับเดียวกันให้มีน้ำหนักและความสำคัญใกล้เคียงกัน
3.        ช่วยให้ทราบว่าหัวข้อใดเรามีข้อมูลหรือความพร้อม หัวข้อใดยังขาดตกบกพร่อง ต้องหาความรู้เพิ่มเติมมากน้อยเพียงไร
4.        กันลืม การเขียนโครงเรื่องจึงช่วยกันลืมและทำให้ไม่ต้องพะวงถึงหัวข้ออื่น ๆ
5.        ช่วยให้จำแนกข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่ เมื่อเรามีโครงเรื่องแล้ว เราก็สามารถจำแนกข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่ตามหัวข้อต่าง ๆ ในโครงเรื่องได้ อีกทั้งยังปรับโครงเรื่องได้เมื่อมีข้อมูลที่ยังเข้ากับหัวข้อที่มีอยู่ไม่ได้ ซึ่งจะทำให้เรื่องที่เราเขียนมีระเบียบและสมบูรณ์
6.        ช่วยให้สามารถเขียนได้โดยไม่ต้องเรียงลำดับหัวข้อ การวางโครงเรื่องให้ชัดเจนจะทำให้เราเลือกเขียนหัวข้อต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องเรียงลำดับ และนำมาเรียงลำดับพร้อมทั้งเขียนเชื่อมโยงได้โดยไม่สับสน
                          สรุปได้ว่า การวางโครงเรื่อง มีขั้นตอนในการวาง ประกอบด้วย กำหนดประเด็นใหญ่และประเด็นย่อย จัดลำดับหัวข้อ แบ่งหัวข้อย่อย และ จัดหัวข้อทุกหัวข้อให้มีน้ำหนักใกล้เคียงกัน มีประโยชน์ ประกอบด้วย ช่วยแบ่งหัวข้อได้ชัดเจน ช่วยให้มองเห็นน้ำหนักของเนื้อหาแต่ละข้อช่วยให้ทราบว่ามีเนื้อหาครบถ้วน กันลืม ช่วยจำแนกหัวข้อให้เป็นหมวดหมู่ และช่วยให้สามารถเขียนได้โดยไม่ต้องเรียงลำดับ
                    2)  เนื้อหาสาระ
                          สมพร  จารุนัฏ (2540: 13-28 อ้างถึงใน วรรณธีรา  สุทธิชล 2546: 14)ได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเนื้อหาในหนังสือเรียนไว้ ดังนี้
1.        เนื้อเรื่องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ผู้เขียนจำต้องกำหนดวัตถุประสงค์ในการเขียนหนังสือให้ชัดเจน ว่าต้องการให้นักเรียนได้ความรู้ความคิด ทักษะ และเจตคติอย่างไร และไม่ควรนำเนื้อหาสาระที่ไม่เกี่ยวข้องมากำหนด
2.        เนื้อเรื่องถูกต้องตามหลักวิชาการของแต่ละวิชา เป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไป ไม่ขัดต่อระเบียบ ประเพณี วัฒนธรรมของสังคม เป็นต้น
3.        เนื้อเรื่องยาก ง่ายพอเหมาะสำหรับวัย ประสบการณ์และความสามารถทางสติปัญญาของนักเรียนที่จะรับได้
4.        เนื้อเรื่องสั้นยาวพอเหมาะ ไม่ควรสั้นไปจนเกินไปจนนักเรียนไม่สามารถเกิดความรู้ ความเข้าใจเรื่องนั้น หรือยืดยาวสับสน
5.        เนื้อเรื่องเหมาะสมกับประสบการณ์ วุฒิภาวะ และสภาพแวดล้อมของนักเรียนตลอดจนเป็นตัวอย่างที่สมจริงด้วย
6.        มีการกำหนดหัวข้อที่เหมาะสม สรุปความสำคัญของสาระความรู้ระหว่างบทให้นักเรียนสามารถแยกแยะเป็นประเด็น หมวดหมู่ได้ตามลำดับ
                          สุรสิทธิ์  วิทยารัฐ (2546: 102) และ นภาลัย  สุวรรณธาดา และคณะ (2553: 7) ได้กล่าวไว้ว่า เนื้อหาสาระเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของหนังสือที่ให้รายละเอียดของเนื้อหาตั้งแต่บทแรกถึงบทสุดท้าย โดยแบ่งเป็นบทเป็นตอนตามที่ปรากฏในสารบัญ ส่วนมากเมื่อจบหรือจบตอนแล้วจะขึ้นหน้าใหม่ทางขวามือ หน้าที่ขึ้นบทใหม่จะไม่พิมพ์เลขหน้า แต่นับรวมหน้าด้วยหนังสือที่มีเนื้อหามากก็อาจแบ่งพิมพ์เป็นสองเล่มจบ หรือมากกว่า ประโยชน์ของเนื้อเรื่องของหนังสือ คือ ให้ความรู้แก่นักเรียนตามชื่อเรื่องที่ปรากฏ
                          ปรีชา  ช้างขวัญยืน (2551: 8-12) ได้กล่าวไว้ว่า การพิจารณามาตรฐานด้านคุณภาพของเนื้อหาวิชา จะได้ทั้งแง่วิชาการและแง่ประโยชน์ของนักเรียนให้สอดคล้องกัน ซึ่งมีองค์ประกอบหลายด้าน ดังต่อไปนี้
1.        ความครบถ้วนตามหลักสูตร หนังสือเรียนที่เขียนครบถ้วนตามหลักสูตร มักจะเป็นหนังสือเรียนที่ใช้สอนจริงๆ ในสถาบันใดๆ เรื่องที่ต้องคำนึงถึงคือ เนื้อหาที่ครบถ้วนตามประเภทของหนังสือเรียนที่ตั้งใจจะเขียนมากกว่า
2.        ความครบถ้วนทางวิชาการ ความครบถ้วนของวิชาการหนังสือเรียนพิจารณาจากวัตถุประสงค์ในการเขียนที่ผู้เขียนกำหนด ซึ่งแตกต่างกันไปตามประเภทของหนังสือเรียน นอกจากความครบถ้วนจะเป็นไปตามจุดหมายของผู้เขียนในแง่ที่มีเรื่องครบตามขอบเขตที่วางไว้ ซึ่งครบถ้วนและจบในตัวแล้ว เนื้อหาและหัวข้อแต่ละเรื่องจะต้องครบถ้วนและเชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ ได้ครบถ้วนด้วย
3.        ความถูกต้อง การเขียนหนังสือเรียนต้องคำนึงถึงความถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญที่สุด หากมีสิ่งใดที่ไม่แน่ใจต้องตรวจสอบ เพราะหนังสือเรียนที่ผิดจะให้ความรู้ที่ผิด ดังนั้นหนังสือเรียนจะมีข้อผิดพลาดน้อยลงหากมีผู้ตรวจ ยิ่งมีผู้ตรวจมากคนและเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ความถูกต้องก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น
4.        ความใหม่ ผู้อ่านต้องได้ความรู้เพิ่มจากหนังสือเรียน ซึ่งเนื้อหาอย่างเดียวกัน อาจมองด้วยมุมมองที่ต่างกัน กรณีศึกษาที่แตกต่างกัน การประเมินข้อดีขอเสียที่แตกต่างกัน ลำดับเนื้อหาที่ต่างกัน เชื่อมโยงกับเนื้อหาสาขาอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน เหล่านี้ทำให้เกิดความใหม่ได้ ข้อมูลที่ทันสมัยกว่า ข้อโต้แย้งใหม่ ๆ สภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ก็ทำให้เกิดความใหม่ได้
5.        ความทันสมัย ความรู้เรื่องโบราณมักไม่ค่อยล้าสมัยเร็ว แต่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องโบราณบางครั้งก็มีการพิสูจน์ได้ในภายหลังว่าเป็นข้อมูลปลอม หรือมีปัญหากับความเห็น ข้อโต้แย้งใหม่ๆ เกิดขึ้น หากไม่ติดตามความก้าวหน้าในเรื่องที่เขียน หนังสือเรียนนั้นย่อมเป็นหนังสือเรียนที่ล้าสมัยได้
6.        การมีตัวตนของผู้เขียนอยู่ในผลงาน ตัวตนของผู้เขียนหนังสือเรียน จะแฝงอยู่ในหนังสือเรียนทั้งด้านการลำดับข้อมูลและความคิด การเรียบเรียงภาษา และการอธิบาย ตีความ ประเมินค่า ด้วยความรู้และความคิดของผู้เขียน จึงทำให้งานเขียนนั้นมีลักษณะเฉพาะที่เป็นของผู้เขียนอย่างแท้จริง
7.        ความลึกซึ้ง ความลึกซึ้งของหนังสือเรียนควรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกระดับความรู้ เนื่องจากความรู้ในแต่ละสาขาวิชาก้าวหน้าไปทุกวัน หากผู้เขียนติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างสม่ำเสมอ ก็ย่อมจะมีเรื่องที่นำมาเพิ่มเติมให้ลึกได้ในทุกระดับ
8.        ความเป็นเหตุผล การมีหลักฐานอ้างอิง ยืนยัน หรือพิสูจน์ข้อสรุป มติ หรือความเห็นทางวิชาการ เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้หนังสือที่เล่าเรื่อง หลักฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ทำให้ประวัติศาสตร์ และไม่เป็นนิยาย การอธิบายความสัมพันธ์เชิงสาเหตุเชิงเหตุและผล ในวิชาประวัติศาสตร์ก็ดี วิชาวิทยาศาสตร์ก็ดี การเชื่อมโยงให้เห็นเหตุผลกับข้อสรุปในวรรณคดีวิจารณ์ หรือปรัชญาก็ดี ก็แสดงหลักฐานจากคัมภีร์ ในการยืนยันคำสั่งสอนหรือความคิดเห็นที่มีต่อคำสอนในศาสนาก็ดี เป็นมาตรฐานสำคัญในด้านคุณภาพของเนื้อหา ที่ทำให้หนังสือเรียนหรือหนังสือวิชาการที่มีคุณภาพและเป็นวิชาการ
                          สรุปได้ว่า เนื้อหาสาระ เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ให้รายละเอียดตั้งแต่บทแรก ถึงบทสุดท้าย สามารถพิจารณาได้จาก มีเนื้อหาสาระครบถ้วนตามหลักสูตร ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีความสั้นยาวพอเหมาะและความยากง่ายเหมาะสมกับนักเรียน มีการแยกแยะเนื้อหาตามหมวดหมู่ มีการอ้างอิงถึงที่มา มีความใหม่และทันสมัย
                    3)  ด้านภาษาที่ใช้
                          ปรีชา  ช้างขวัญยืน (2551: 15-18) ได้กล่าวไว้ว่า ภาษาที่ใช้ในหนังสือเรียนจะต้องใช้ภาษามาตรฐาน ซึ่งมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
1.        เป็นภาษาเขียน ภาษาเขียนเป็นภาษาที่มีลักษณะกว้าง ๆ ดังนี้
1.1       เป็นภาษาที่ครบถ้วนสมบูรณ์ คือ มีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่สื่อสารครบถ้วนตามขอบเขตที่ต้องการนำเสนอ
1.2       เป็นภาษาที่ถูกหลักไวยากรณ์ และเขียนเป็นประโยคที่สมบูรณ์ ไม่ตัดไม่ย่อ เนื่องจากการตัดหรือย่อทำให้นักเรียนต้องเติมส่วนที่ตัดหรือย่อเอง ประโยคที่สมบูรณ์จึงสื่อสารได้ครบถ้วน ชัดเจน และผู้อ่านไม่ต้องเติมส่วนที่ขาดหายไป
1.3       คำที่ใช้เป็นคำสำคัญสำหรับภาษาเขียน ซึ่งเหมาะสมกับเนื้อหา เรื่องราวต่าง ๆ ไม่ใช้คำหยาบคาย ใช้คำสุภาพ ถูกต้องตามระดับของภาษา เป็นต้น
2.        เป็นภาษาวิชาการ มีลักษณะดังนี้
2.1       ใช้ภาษาตรงตามเนื้อหา เพราะในวิชาการนั้นจะต้องมีความแม่นยำในเรื่องความหมาย
2.2       ใช้คำเท่าที่จำเป็น หรือใช้คำอย่างประหยัด คือ เท่าที่ทำให้ได้ครบถ้วนและแจ่มแจ้ง ใช้คำตรงความคิด ไม่ขาดไม่เกิน
2.3       ใช้คำพูดตรงไปตรงมาไม่ยอกย้อน นิยมประโยค กรรตุวาจก มากกว่าประโยค กรรมวาจก ความเข้าใจง่าย และชัดเจน
2.4       มีคำศัพท์วิชาการซึ่งอาจเป็นคำศัพท์ที่บัญญัติใหม่ ศัพท์ชนิดนี้มีการนิยามความหมายชัดเจนใช้ตรงกันในหมู่นักวิชาการสายเดียวกัน เป็นสิ่งที่ทำให้ภาษาวิชาการเป็นภาษาที่ชัดเจนที่สุด และเป็นภาษาเฉพาะกลุ่มของนักวิชาการ
3.        เป็นภาษาไทย ภาษาเป็นเครื่องแสดงความเป็นชาติ การบัญญัติศัพท์และการทับศัพท์อย่างมีหลักเกณฑ์ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะรักษาความเป็นภาษาของชาติไทยได้ และพัฒนาภาษาไทยให้ใช้เป็นภาษาวิชาการได้
4.        เป็นภาษาที่เรียบเรียงดีแล้ว มาจากการลำดับเนื้อหา ลำดับความคิดเป็นระเบียบ การใช้ภาษาที่ตรงกับเนื้อหา การเขียนประโยคเชื่อมกันให้มีความสัมพันธ์แบบต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องราวเรียบเรียงความคิดซึ่งภาษาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเสมอ
5.        ใช้ภาษาเหมาะแก่วิธีนำเสนอ เช่น ใช้บรรยาย ในการเล่ารายละเอียด ใช้อธิบายในลำดับขั้นตอนอธิบายความหมาย ใช้การวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ คือ วิพากย์โวหารในการโต้แย้ง อ้างเหตุผลให้เชื่อถือ เป็นต้น จะทำให้สามารถเรียบเรียงถ้อยคำได้ดี
                          สรุปได้ว่า ภาษาที่ใช้ในหนังสือเรียนต้อง เป็นภาษาเขียนมีความสมบูรณ์ถูกไวยากรณ์และเหมาะสม เป็นวิชาการ ตรงตามเนื้อหาและการบัญญัติศัพท์ใหม่ที่ดี เป็นภาษาไทยแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ เป็นภาษาที่เรียบเรียงดีแล้วมีการเขียนประโยคให้สัมพันธ์กัน และใช้ภาษาเหมาะสมกับการนำเสนอ
                    4)  ด้านตัวอักษร
                          การใช้ตัวอักษรในหนังสือเรียน สิ่งที่ควรคำนึงมีดังนี้
1.        สีที่ใช้เกี่ยวกับการพิมพ์ (กำธร  สถิรกุล 2521: 141 อ้างถึงใน ลัดดา  อินทร์พิมพ์ 2549: 29-30) ปกติการพิมพ์หนังสือหรือภาพขาวดำบนกระดาษขาว เป็นการประหยัดที่สุดและเป็นการตัดกันเองของสีมากที่สุด การพิมพ์สีนั้น หมายถึงการพิมพ์สีอื่นๆ ลงไป การนำสีอื่นมาพิมพ์ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้นกว่าการพิมพ์ด้วยหมึกธรรมดา ซึ่งการพิมพ์หลายสีก็ต้องพิมพ์แม่สีเพิ่มขึ้น คือ เพิ่มขึ้นสีหนึ่งก็ต้องมีแม่พิมพ์เพิ่มขึ้นชุดหนึ่ง ดังนั้น การนำสีมาใช้ในทางการพิมพ์ก็ควรจะมีประโยชน์เพิ่มขึ้น คุ้มกัน แล้วสิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ จุดประสงค์ของการนำสีมาใช้ในทางการพิมพ์ก็เพื่อประโยชน์ดังนี้
1.1       สีเรียกความสนใจ และมองได้นาน เช่น ในหน้าหนังสือเดียวกัน จุดใดมีสีคนจะมองจุดนั้นก่อนที่จะมองส่วนที่ไม่มีสี
1.2       สีให้ภาพได้เหมือนของจริงมากกว่าภาพขาวดำ เพราะสิ่งแวดล้อมที่เรามองเห็นสีทั้งนั้น การพิมพ์ภาพเป็นสีธรรมชาติ สามารถจะสร้างภาพเหมือนของจริงได้มากขึ้น การพิมพ์สีจึงมีผลดีมากกว่าไม่มีสี
1.3       สีก่อให้เกิดอารมณ์ อาจใช้สีสร้างอารมณ์ต่างๆ ให้นักเรียนได้ตามที่ผู้ใช้ตั้งใจ
1.4       สีก่อให้เกิดความเข้าใจ และความจำมากกว่าภาพขาวดำ การใช้สีทำให้นักเรียนเข้าใจภาพได้ชัดเจนกว่า เมื่อเข้าใจแล้วย่อมจำได้มากขึ้น การจำนี้ หมายถึง จำเรื่องราวของภาพได้ว่าเป็นอย่างไร ไม่ได้จำสี
1.5       ใช้สีเพื่อให้เกิดความประทับใจ ผู้อ่านเกิดความประทับใจ ให้นักเรียนรู้สึกว่าฐานะของผู้ใช้สี มีฐานะ มีเกียรติสูง เพราะการใช้สีต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ทำให้หนังสือมีคุณค่าทางด้านรสนิยมด้วย
1.6       ตัวอักษรบนภาพ จะอ่านได้ยากกว่าบนพื้นเรียบ เนื่องจากทั้งภาพและตัวอักษรต่างก็มีรายละเอียดซึ่งอาจจะกระทบซึ่งกันและกัน จึงต้องมีการวางแผนล่วงหน้า เพื่อกำหนดพื้นที่ในภาพที่จะนำตัวอักษรมาวางทับ เพื่อไม่ให้มีรายละเอียดมากเกินไป
1.7       ตัวอักษรประดิษฐ์ อักษรประดิษฐ์จะใช้สำหรับข้อความสั้นๆ เช่น พาดหัว พาดหัวรอง เป็นต้น ควรพิจารณา ดังนี้      
1.7.1         ความเหมาะสมกับ กลุ่มเป้าหมาย อารมณ์ ความรู้สึกที่ต้องการจะสื่ออีกทั้งยังช่วยส่งเสริมความหมายของข้อความนั้นๆด้วย
1.7.2         ความกลมกลืน ควรจะมีลักษณะที่เข้ากันได้ ไม่ดูเหมือนมาจากคนละทิศคนละทางและควรไปทางเดียวกันได้กับองค์ประกอบอื่นๆ
1.7.3         การเลือกใช้แบบตัวอักษรหลักการเลือกใช้แบบตัวอักษรโดยคำนึงถึงความอ่านง่าย สบายตา เมื่อนำมาเรียงเป็นข้อความเป็นหลัก มีองค์ประกอบดังนี้
1)      แบบของตัวอักษรที่ชัดเจน
2)      ขนาดของตัวอักษรที่ไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป
3)      ความยาวของบรรทัดที่พอเหมาะ
4)      ระยะห่างระหว่างบรรทัดที่พอเหมาะ
5)      รูปแบบของการจัดหน้า
6)      ความเข้มของสีหมึกของตัวหนังสือและกระดาษ
7)      ลวดลายของเนื้อกระดาษ
1.8       การกำหนดขนาดและรูปแบบของตัวอักษร ใช้สัมพันธ์กับลำดับความสำคัญของเนื้อหา
2.        การจัดตัวอักษรหน้าหนังสือ (ปราณี  เชียงทอง 2526: 128 อ้างถึงใน บุญศิริ  ฤทธิ์บัณฑิต 2549: 37-38) จะต้องคำนึงถึงความน่าอ่าน และอ่านได้สะดวก ดังนี้
2.1       ความยาวของบรรทัด โดยทั่วไปสายตาสามารถจับตัวอักษรได้ประมาณ 10 ในบรรทัดหนึ่ง ถ้าความยาวของตัวอักษรในบรรทัดหนึ่ง ยาวเกินไปจะทำให้นักเรียนเมื่อยตา อ่านได้ไม่นาน เพราะต้องกรอกนัยน์ตาตามตัวหนังสือในมุมกว้างมาก
2.2       การเว้นระยะและการเว้นวรรคตอน คือ การเว้นที่ว่างระหว่างข้อความ หรือระหว่างคำ การเว้นระยะและการเว้นวรรคตอนในหนังสือสำหรับเด็ก ควรทำให้อ่านง่ายโดยวิธีแบ่งคำมากกว่าเว้นที่ว่างไว้มากในระหว่างบรรทัด
2.3       การเว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ช่วยทำให้อ่านง่ายขึ้น
2.4       การเว้นที่ว่างรอบหน้าพิมพ์ คือ การเว้นที่ว่างรอบขอบทั้งสี่ด้านของหน้าพิมพ์เพื่อให้เป็นที่พักสายตา และเพื่อความสวยงามให้น่าอ่าน
2.5       จำนวนบรรทัดต่อหนึ่งหน้า ขึ้นอยู่กับการเว้นที่ว่างรอบหน้าพิมพ์ขนาดของตัวอักษร และการเว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ขึ้นอยู่กับขนาดของหนังสืออีกด้วย ถ้าเป็นหนังสือขนาด 8 หน้ายก จำนวนบรรทัดย่อมมากกว่าหนังสือขนาด 16 หน้ายก
3.        ขนาดตัวอักษร ตัวอักษรในการถ่ายทอดความคิดไปยังนักเรียน ถ้าเด็กเล็กต้องใช้ตัวอักษรขนาดใหญ่ ถ้าเป็นเด็กโตใช้ตัวอักษรขนาดเล็กลงมา สำหรับตัวอักษรภาษาไทยตัวพิมพ์ขนาด 16 พอยท์ เหมาะสมยิ่งกว่าตัวอักษรแบบอื่นใดเมื่อเปรียบเทียบกัน รองลงมาได้แก่ตัวพิมพ์แบบฝรั่งเศสขนาด 18 พอยท์ การใช้ตัวอักษรในหนังสือเรียนมีลักษณะที่ดีดังนี้
3.1       ตัวอักษรที่ขนาดโต เส้นหนา พอเหมาะกับสายตานักเรียน
3.2       ตัวอักษรต้องเป็นแบบที่เหมาะสมกันทั้งส่วนสูงและความหนา
3.3       น้ำหนักของเส้นตัวอักษรต้องสม่ำเสมอ ไม่ขาด มีหัวชัดเจน
3.4       ตัวอักษรแต่ละตัวจะต้องเรียงตัวติดกันได้ดีเมื่อสร้างเป็นคำ
3.5       ตัวอักษรต้องมีลักษณะที่อ่านสบายตา
3.6       เนื้อหาสาระสำคัญ ควรใช้ตัวอักษรที่มีขนาดใหญ่และหนาขึ้น เพื่อแสดงความสำคัญของข้อความนั้น และช่วยให้เข้าใจเรื่องได้ดียิ่งขึ้น
3.7       การเลือกตัวอักษร ต้องอ่านง่ายและอ่านออกเป็นสำคัญทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงรูปแบบ ขนาดช่องไฟ สี และความตัดกันของตัวอักษรกับพื้นหลัง
4.        รูปแบบของตัวอักษร ที่ใช้ในสิ่งพิมพ์ต้องพิจารณาในหัวข้อ (ชวรัตน์ เชิดชัย และคณะ 2539 อ้างถึงใน วรางคณา สุขสัมจินตน์ 2549: 32-) ดังนี้
4.1       ตัวบาง เป็นตัวอักษรที่ใช้ในการพิมพ์ข้อความที่เรียกว่าเป็นตัวพื้น คือเนื้อหาทั่วไป
4.2       ตัวหนา เป็นตัวอักษรที่มีความหนากว่าปกติ มักใช้ในกรณีต้องการเน้น ข้อความสำคัญ
4.3       ตัวแคบ เป็นตัวอักษรที่มีลักษณะผอมสูง เบียดเข้าหากัน เหมาะสำหรับข้อความยาวแต่มีเนื้อที่ในการพิมพ์จำกัด
4.4       ตัวกว้าง เป็นตัวอักษรที่มีความกว้างอ้วน เหมาะสำหรับข้อความสั้นๆ และมีเนื้อที่ในการพิมพ์กว้าง
4.5       ตัวเอน เป็นตัวอักษรที่เป็นตัวเอน มักใช้เป็นคำบรรยาย หรือข้อความแสดงถึงคำพูด
4.6       ขนาดช่องว่างระหว่างตัวอักษร ประโยค และบรรทัด จะต้องมีขนาดที่พอเหมาะไม่ชิดหรือห่างจนยากที่จะจับข้อความได้
4.7       ความยาวบรรทัด จะต้องไม่ยาวจนทำให้ขาดความต่อเนื่องหรือหาบรรทัดต่อไม่พบ เช่น กรณีที่พาดหัวเป็นบรรทัดเดียวและยาวตลอดหน้าคู่หรือข้อความเนื้อเรื่องคอลัมน์เดียวที่ขนาดความกว้างเต็มหน้ากระดาษ เป็นต้น
4.8       ตัวอักษรขาวบนพื้นดำหรือพื้นสีเข้มจะดูเล็กกว่าตัวอักษรสีดำบนพื้นขาวหากข้อความน้อยจะไม่มีผลอะไรมากนัก แต่หากมีข้อความจำนวนมากควรใช้ตัวอักษรที่หนาหรือมีขนาดใหญ่ขึ้น
4.9       สีของตัวอักษรและสีของพื้น หากมีใกล้เคียงกันมากจะทำให้ดูตัวอักษรไม่ชัดเจน จึงต้องกำหนดสีให้ตัดกัน แต่ต้องระวังไม่ใช้คู่สีที่ตรงข้ามกันมากจนทำให้ปวดตา เช่นตัวอักษรสีแดงบนพื้นสีเขียว
                          สรุปได้ว่า การใช้ตัวอักษรในหนังสือเรียนมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ สีที่ใช้เกี่ยวกับการพิมพ์ เพื่อเรียกความสนใจ ได้ภาพเสมือนจริง และช่วยให้เกิดความเข้าใจและประทับใจ การจัดตัวอักษรหน้าหนังสือ เช่น ความยาวของบรรทัด การเว้นวรรค การเว้นที่ว่าง และจำนวนบรรทัด รูปแบบของตัวอักษร ซึ่งมีขนาดโตเหมาะสมกับนักเรียนช่วยให้อ่านแล้วสบายตา และรูปแบบของตัวอักษร เช่น ตัวบาง ตัวหนา ตัวเอน ตัวอักษรบนพื้นสี และสีตัวอักษรและสีพื้น


                    5)  ด้านภาพประกอบ
                          กำธร  สถิรกุล (2521: 140 อ้างถึงใน ลัดดา  อินทร์พิมพ์ 2549: 29) ได้กล่าวถึง สีที่ใช้เกี่ยวกับภาพประกอบ ไว้ว่า หนังสือเรียนสำหรับเด็กต้องการสีสันในภาพมากกว่า หนังสือเรียนสำหรับวัยรุ่น สำหรับเด็กเล็กต้องการสีที่ฉูดฉาด เช่น สีแดง เหลือง น้ำเงิน เขียว พวกแม่สีที่ระบายลงไปเต็มที่ ย่อมเรียกความสนใจจากเด็กๆ ได้มากกว่าสีอื่นๆ แต่สำหรับวัยรุ่นความรู้สึกเรื่องสีจะเปลี่ยนไป ชอบสีที่สดใส สีผสมมากกว่าแม่สี เช่น สีฟ้า ชมพู ตองอ่อน สีส้ม และสีเนื้อ เป็นต้น ส่วน เดล (Dale 1969: 66อ้างถึงใน ลัดดา อินทร์พิมพ์ 2549: 29) ได้กล่าวถึงหลักที่พิจารณาในการเลือกภาพสีและภาพขาวดำ ประกอบการสอนดังนี้ “ภาพที่ตั้งใจจะเร้าอารมณ์ และดึงดูดความสนใจนั้น ควรจะเป็นภาพสี แต่ภาพที่เป็นความจริงอย่างแน่แท้ ควรจะเป็นภาพขาวดำ ส่วนสีจะช่วยเติมความจริง และให้ข้อเท็จจริง ดังนั้น ถ้าต้องการให้เข้าใจง่ายขึ้นก็ควรใช้ภาพสี”
                          โคเมเนียส (อ้างถึงใน ชาญสิทธิ์  ฤทธิกะสัส 2545: 22) และ ประชิด
ทิณบุตร (
2530: 88อ้างถึงใน จุฑารัตน์ ปัญญา 2549: 27) บุคคลแรกที่ได้นำภาพมาประกอบบทเรียนในหนังสือ Orbis Pictus ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนังสือเล่มแรกของโลกที่มีภาพประกอบวัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพเป็นรูปธรรม เข้าใจเนื้อหาสาระได้ถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า “ ภาพหนึ่งภาพมีความหมายมากกว่าคำพูด หรือการเขียนนับพันคำ” และยังได้สรุปประโยชน์ทางการศึกษาของภาพถ่ายไว้ ดังนี้
1.        เพื่อเป็นการแนะนำจูงใจและดึงดูดความสนใจ โดยภาพประกอบช่วยเป็นสื่อแสดงข้อความรู้ต่างๆ ที่ไม่สามารถเห็นด้วยการสร้างภาพประกอบการอธิบายความรู้ให้มองเห็นได้กระจ่างขึ้น
2.        เพื่อช่วยให้การอธิบายมีความหมายเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยภาพประกอบช่วยเป็นสื่อแสดงความรู้ต่างๆ ที่ไม่สามารถเห็นได้จริง โดยภาพประกอบช่วยเป็นสื่อแสดงข้อความรู้ต่างๆ ที่ไม่สามารถเห็นได้กระจ่างชัดขึ้น
3.        เพื่อช่วยแก้ไขมโนภาพที่ผิดให้ถูกต้องและอธิบายความคิดรวบยอด เช่น การเขียนเครื่องหมายสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อให้มีความหมายแทนสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ
4.        เพื่อช่วยให้สามารถศึกษาเรื่องราวในอดีต หรือสถานที่อยู่ใกล้ๆ ได้
5.        เพื่อช่วยตั้งปัญหาหรือคำถามโดยใช้ภาพเป็นสิ่งนำให้เด็กหาคำตอบจากภาพนั้น
6.        เพื่อช่วยให้การอธิบายในสิ่งที่ยากให้ง่ายขึ้น
7.        เพื่อแสดงหรือสาธิตให้เห็นกระบวนการหรือวิธีการได้
8.        เพื่อช่วยให้ศึกษารายละเอียดของสิ่งที่ธรรมดาไม่สามารถมองเห็นให้ได้เห็นภาพได้ชัดเจน
9.        เพื่อเป็นการสรุปของคำอธิบาย
10.       เพื่อทำให้นักเรียนมีความสนใจต่อสิ่งรอบตัว
11.       เพื่อช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน
12.       เพื่อใช้เป็นสิ่งอ้างอิงได้เพราะรูปภาพสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบันทึกเหตุการณ์หรือสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ตรงตามความจริงมากที่สุด
                          นภาลัย สุวรรณธาดา (2553: 91) ได้กล่าวไว้ว่า ความสำคัญของภาพประกอบไว้ว่า อยู่ที่การช่วยส่งเสริมให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาของรายงานได้ดีขึ้น ภาพไม่ใช่สิ่งอธิบายแต่ช่วยในการอธิบายให้ชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น
1.        ช่วยอธิบาย หากไม่มีภาพประกอบ นักเรียนจะเข้าใจยาก แต่เมื่อมีภาพประกอบนักเรียนก็เข้าใจคำอธิบายได้ดีขึ้น คำพูดอย่างเดียวไม่พอ ต้องให้นักเรียนเห็นภาพ นักเรียนจึงจะเข้าใจ ตรงกับคำโบราณที่ว่า สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น ให้คนอธิบายสิบคนอาจสู้ภาพเดียวไม่ได้
2.        ช่วยเน้นจุดสำคัญ ในการเขียนรายงาน ผู้เขียนจะมีจุดสำคัญที่ต้องการเน้น เช่น ต้องการเปรียบเทียบ ต้องการชี้ให้เห็นความแตกต่าง ต้องการแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในอนาคต เป็นต้น
3.        ช่วยจัดระเบียบข้อมูลเชิงปริมาณ ข้อมูลหลายอย่างเป็นตัวเลข สะดวกต่อการจัดทำภาพประกอบ เพราะจะช่วยให้เรียบเรียงข้อมูลเชิงปริมาณ ข้อมูลที่เป็นระเบียบย่อมสะดวกต่อนักเรียนและทำให้เข้าใจง่าย
                          สรุปได้ว่า ภาพประกอบในหนังสือเรียนสำหรับเด็กมักใช้สีสันที่ฉูดฉาด สำหรับวัยรุ่นมักใช้สีที่สดใส เพื่อเร้าอารมณ์และดึงดูดความสนใจ  ภาพประกอบช่วยอธิบาย เน้นจุดสำคัญ และจัดเรียงข้อมูลและปริมาณ เพื่อเป็นการแนะนำจูงใจและดึงดูดความสนใจช่วยการอธิบายมีความหมายเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อช่วยแก้ไขมโนภาพที่ผิด ช่วยให้สามารถศึกษาเรื่องราวในอดีต ช่วยตั้งปัญหาหรือคำถามโดยใช้ภาพช่วยการอธิบายในสิ่งที่ยากให้ง่ายขึ้น แสดงหรือสาธิตให้เห็นกระบวนการหรือวิธีการได้ช่วยให้ศึกษารายละเอียดของสิ่งที่ธรรมดาไม่สามารถเห็นได้ เพื่อเป็นการสรุปของคำอธิบายช่วยให้นักเรียนมีความสนใจต่อสิ่งรอบตัวช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน เป็นสิ่งอ้างอิงได้เพราะเป็นเครื่องบันทึกหลักฐาน และการเขียนคำอธิบายใต้ภาพ เพื่ออธิบายให้ผู้อ่านทราบ

        2.3.3   กิจกรรมในหนังสือเรียน
                    ผู้วิจัยได้ศึกษากิจกรรมของหนังสือเรียน ครอบคลุม (1) ความหมายของกิจกรรม และ (2) ประเภทของกิจกรรม
                    1)  ความหมายของ กิจกรรม
                          พจนานุกรมฉบับทันสมัยและสมบูรณ์ (2552: 117) ได้ให้ความหมายของ กิจกรรม ไว้ว่า การปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อเสริมทักษะการเรียนรู้และสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว
                    2)  ประเภทของกิจกรรม
                          ผู้วิจัยได้ศึกษา ประเภทของกิจกรรม ครอบคลุม (1) กิจกรรมนำสู่การเรียน (2) กิจกรรมระหว่างเรียน และ(3) กิจกรรมรวบยอด
1.        กิจกรรมนำสู่การเรียน
                                วิรัช  วรรณรัตน์ (2548: 48) ได้กล่าวไว้ว่า กิจกรรมนำสู่การเรียนเป็นการสำรวจความพร้อมด้านทักษะและความรู้พื้นฐานของนักเรียนเป็นประโยชน์สำหรับครูที่จะวางแผนการสอน จัดเตรียมสื่อการสอนให้ความเหมาะสมกับความรู้ความสามารถของผู้เรียนตลอดจนการซ่อมเสริมให้นักเรียน เพื่อให้มีพื้นฐานความรู้เพียงพอที่จะเรียนต่อไปได้
2.        กิจกรรมระหว่างเรียน
                                วาสนา ทวีกุลทรัพย์ (2552: 322) ได้กล่าวไว้ว่า กิจกรรมระหว่างเรียนเป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนต้องทำในระหว่างที่ศึกษาเนื้อหาสาระโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่กำลังศึกษาดียิ่งขึ้น
3.        กิจกรรมรวบยอด
                                สมพร  จารุนัฏ (2549: 52) ได้กล่าวไว้ว่า กิจกรรมรวบยอดเป็นคำถามประจำบทมักจะเป็นคำถามทบทวนประเด็นสำคัญๆ ของบทนั้นๆ หนังสือเรียนบางเล่มยังอาจเพิ่มเติมส่วนที่มีประเด็นสำหรับให้นักเรียนอภิปราย คิดวิเคราะห์เกี่ยวกับสาระสำคัญของบทด้วย คำถามประจำบทและประเด็นอภิปราย มักจะครอบคลุมเนื้อหาที่มีอยู่ในบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามประจำบทที่มุ่งเน้นสาระสำคัญของเนื้อหาในบทนั้น ประเด็นอภิปรายที่ผู้เขียนเพิ่มเติมไว้ท้ายบทก็สำคัญเช่นเดียวกัน จะช่วยในการจับประเด็นสำคัญในขณะที่อ่านเนื้อหาในบทนั้น ทั้งสรุปย่อท้ายบทและคำถามท้ายบทจะช่วยท่านทำความเข้าใจและเข้าถึงประเด็นสำคัญของเรื่องที่อ่านได้เป็นอย่างดี
                    สรุปได้ว่า ประเภทของกิจกรรมในหนังสือเรียน ประกอบด้วย กิจกรรมนำสู่การเรียนเป็นการเตรียมความพร้อมและทักษะของนักเรียนช่วยในการวางแผนการสอนของครู และช่วยให้มีความรู้พื้นฐานเพียงพอที่จะเรียนต่อไป  กิจกรรมระหว่างเรียนเป็นการทดสอบผลการเรียนระหว่างเรียนช่วยให้การเรียนดีขึ้น และกิจกรรมรวบยอด เป็นคำถามทบทวนประเด็นสำคัญ เป็นการทบทวนที่ครอบคลุมเนื้อหาความรู้ที่เรียนมาในบทนั้น ๆ ช่วยจับประเด็นเนื้อหาและเพิ่มความเข้าใจในบทนั้น
        2.3.4   ด้านส่วนท้ายของหนังสือเรียน
                    ผู้วิจัยได้ศึกษา ส่วนท้ายของหนังสือเรียน ครอบคุลม (1) การอ้างอิง (2) คำสำคัญ และ (3) หน้าประกาศ
                    1)  ด้านการอ้างอิง
                          สุรสิทธิ์  วิทยารัฐ (2546: 102) ได้กล่าวไว้ว่า การอ้างอิงหรือบรรณานุกรม เป็นส่วนที่หนังสือวิชาการจะต้องแจ้งถึงที่มาของเนื้อหาที่ได้มีการอ้างอิงมาจากบุคคลอื่น โดยระบุ ชื่อผู้แต่ง ชื่อหนังสือ สถานที่พิมพ์ ปีที่พิมพ์เพื่อให้ผู้อ่านทราบ อาจอยู่ในตอนท้ายของเนื้อหาของหนังสือ หรืออยู่ตอนท้ายของแต่ละบทก็ได้ มีไว้เพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงว่า หนังสือเล่มนั้นผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้ามาจากที่ใดบ้าง และเป็นการชี้แนะให้ผู้อ่านที่สนใจได้ปรึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมนอกจากที่มีอยู่ในเนื้อหาของหนังสือเล่มนั้น สอดคล้องกับ สมพร  จารุนัฏ (2549: 53) ที่กล่าวไว้ว่า รายชื่อหนังสือที่แนะนำให้ไปอ่านเพิ่มเติม หนังสือที่ผู้เขียนเสนอแนะให้ไปอ่านเพิ่มเติมมีความสำคัญมาก เพราะไม่เพียงแต่ช่วยให้นักเรียนรู้เรื่องในบทหนังสือดีแล้ว ยังช่วยเพิ่มพูนทักษะในการอ่านและการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองด้วย
                          ปรีชา  ช้างขวัญยืน (2551: 102) ได้กล่าวไว้ว่า การอ้างอิงหรือบรรณานุกรมเป็นส่วนสำคัญของงานวิชาการทุกประเภท เป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ คือ เมื่อนำงานของผู้อื่นมาใช้ก็ประกาศให้รับรู้กันว่าไม่ใช่ความคิดของตน และเป็นหลักฐาน รวมทั้งหาความรู้เพิ่มเติมได้ การอ้างอิงนั้นอาจเป็นการการกความคิดหรือข้อมูลมาเล่าใหม่ หรือยกข้อความเดิมลงมาไว้ก็ได้ การอ้างอิงในส่วนนี้จะแสดงให้ปรากฏว่าเป็นข้อความหรือความคิดของผู้อื่นโดยใช้เชิงอรรถและบรรณานุกรม ส่วนความคิดที่นำมาใช้แต่มิได้อ้างโดยตรง ก็อาจนำแหล่งความคิดนั้นมาลงไว้ในบรรณานุกรมเพื่อประโยชน์แก่การค้นคว้าของนักเรียนได้
                          นภาลัย  สุวรรณธาดา และคณะ (2553: 16) ได้กล่าวถึงการอ้างอิงหรือบรรณานุกรมไว้ว่าเป็นรายชื่อสิ่งพิมพ์ และวัสดุอ้างอิงต่าง ๆ ที่ผู้เขียนประกอบการค้นคว้าเรียบเรียง โดยเรียงลำดับรายการสิ่งพิมพ์และวัสดุอ้างอิงต่าง ๆ ที่ใช้ตามลำดับอักษรชื่อผู้แต่ง บรรณานุกรมจะอยู่ท้ายเรื่อง โดยเริ่มจากบรรณานุกรมภาษาไทยก่อนภาษาอังกฤษ ในกรณีที่มีสื่อสิ่งพิมพ์หลายประเภท ให้จำแนกและเรียงลำดับประเภทเป็น หนังสือ วารสาร และวิทยานิพนธ์ ตามลำดับ
                          สรุปได้ว่า การอ้างอิงเป็นส่วนสำคัญในการแสดงความบริสุทธิ์ใจ ในการนำเอางานของคนอื่นมาใช้อ้างอิงด้วยการบอกชื่อผู้แต่ง ชื่อหนังสือ สถานที่พิมพ์ ปีที่พิมพ์ เพื่อให้นักเรียนได้ทราบและเป็นแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตนเองอาจอยู่ตอนท้ายบท หรือท้ายเล่มก็ได้
                    2)  คำสำคัญ
                          สมพร  จารุนัฏ (2549: 53) ได้กล่าวถึงคำสำคัญหรืออภิธานศัพท์ไว้ว่า คำศัพท์เหล่านี้มักจะเป็นคำศัพท์เฉพาะหรือ คำศัพท์วิชาการในสาขาวิชาของหนังสือเรียนนั้น อภิธานศัพท์ช่วยนักเรียนในการอ่านหนังสือได้ดีกว่าพจนานุกรม เพราะสามารถหาความหมายของคำได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะในอภิธานศัพท์จะรวบรวมคำศัพท์เฉพาะที่ใช้อยู่ในหนังสือเล่มนั้น นอกจากนี้อภิธานศัพท์ให้ความหมายของคำไว้ความหมายเดียวที่ตรงสำหรับทำความเข้าใจเนื้อหาในหนังสือเรียน ต่างจากพจนานุกรม ที่อาจจะให้ความหมายของคำหนึ่งไว้หลายความหมาย ทำให้นักเรียนต้องพิจารณาคำคำหนึ่งไว้หลายความหมาย ทำให้นักเรียนต้องพิจารณาเลือกว่าควรจะเป็นความหมายใดที่จะนำมา ใช้ทำความข้าใจเนื้อหาในหนังสือเรียน อภิธานศัพท์จึงจะช่วยประหยัดเวลาและช่วยป้องกันไม่ให้นักเรียนเลือกความหมายของคำมาใช้ผิดๆ
                          นภาลัย  สุวรรณธาดา และคณะ (2553: 8) ได้กล่าวไว้ว่า คำสำคัญ หรือ อภิธานศัพท์ เป็นส่วนที่อธิบายคำยาก หรือศัพท์เฉพาะที่มีเนื้อหาเรื่องของหนังสือ อาจเรียงตามลำดับอักษร ลำดับบท หรือลำดับก่อนหลังของคำศัพท์เหล่านั้น
                          สรุปได้ว่า คำสำคัญ เป็นส่วนที่อธิบายคำยากในหนังสือ มีความสำคัญในการช่วยอธิบายศัพท์ที่ยากและตรงกับความหมายในหนังสือ ช่วยประหยัดเวลาในการค้นหาความหมาย และช่วยป้องกันการเข้าใจความหมายผิดจากจุดประสงค์
                    3)  ด้านหน้าประกาศ
                          ประพิมพ์พรรณ  โชคสุวัฒนกุล (2531: 118 อ้างถึงใน ลัดดา  อินทร์พิมพ์ 2549: 18) ได้กล่าวไว้ว่า หน้าประกาศ เป็นประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องอนุญาตให้ใช้หนังสือในโรงเรียน ประกอบด้วย
1.        ชื่อผู้จัดทำ
2.        ชื่อหนังสือ และระดับช่วงชั้น
3.        หลักสูตรที่ใช้
4.        คำอนุญาตให้ใช้หนังสือในโรงเรียน
5.        วันที่ประกาศ
6.        ลายมือชื่อ และชื่อผู้ประกาศ
                    7)  ตำแหน่งผู้ประกาศ
                          ประกาศกระทรวงศึกษาธิการนี้ใช้เฉพาะหนังสือที่กระทวงศึกษาธิการจัดทำนั้น ส่วนหนังสือที่ภาคเอกชนทำจะเป็นใบอนุญาตให้ใช้หนังสือเรียนในโรงเรียนเป็นคร่าวๆ ไป
                          สรุปได้ว่า หน้าประกาศ เป็นการติดประกาศที่กระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้ใช้หนังสือในโรงเรียนได้ ประกอบด้วย ชื่อผู้จัดทำ ชื่อหนังสือ และระดับช่วงชั้นหลักสูตรที่ใช้คำอนุญาตให้ใช้หนังสือในโรงเรียน วันที่ประกาศ ลายมือชื่อ และชื่อผู้ประกาศ และตำแหน่งผู้ประกาศ
2.4  เทคนิคการจัดหนังสือเรียน
        ผู้วิจัยได้ศึกษาเทคนิคการจัดหนังสือเรียนครอบคลุม (1) การจัดรูปเล่ม (2) การออกแบบ และ (3) กระดาษที่ใช้
        2.4.1   การจัดรูปเล่ม
                    ผู้วิจัยได้ศึกษา ด้านการจัดรูปเล่ม ครอบคลุม (1) ขนาดของหนังสือเรียน
(
2) การจัดเล่ม (3) การจัดตัวพิมพ์ (4) คอลัมน์ (5) การย่อหน้า และ (6) การกำหนดเลขหน้า
                    1)  ขนาดของหนังสือเรียน
                          วันชัย  ศิริชนะ (อ้างถึงใน สุรสิทธิ์  วิทยารัฐ 2546: 172) มาตรฐานของหนังสือใน แต่ละประเภทในอดีตมักไม่เหมือนกัน ในบางครั้งขึ้นอยู่กับขนาดของกระดาษที่โรงงานกระดาษทำออกขาย หรือบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับความนิยมซึ่งถ้ามีมาก โรงงานกระดาษก็จะเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายบ้างแล้วในประเทศไทย สำหรับขนาดของสื่อสิ่งพิมพ์ในปัจจุบัน ที่นิยมกันแพร่หลาย คือ ขนาดต่อไปนี้
1.        ขนาด 8 หน้ายกธรรมดา (7.1/2" X 10.1/4") เป็นขนาดที่นิยมใช้กันทั่วไปในการพิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนในปัจจุบัน เพราะใช้กระดาษขนาด 31" X 43" มาตัดลงพิมพ์และคัดได้ลงตัวมาพอดี
2.        ขนาด A 4 (8/14" X 11.3/4") เป็นขนาดมาตรฐานที่องค์กรมาตรฐานนานาชาติ กำหนดใช้กระดาษขนาด 24" X 35" พิมพ์ลงได้มาพอดี เรียกกันว่า “ขนาด 8 หน้ายกพิเศษ”
3.        ขนาด 16 หน้ายก (5" X 7") โดยประมาณหรือครึ่งหนึ่งของกระดาษ A 4 เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ขนาดพอกเก็ตบุ๊ค” นิยมใช้พวกนวนิยายหรือหนังสือคู่มือเป็นส่วนมาก มีขนาดเท่ากับครึ่งหนึ่งของขนาด 8 หน้ายกธรรมดา
4.        ขนาดของวารสาร นิตยสาร มักมีขนาดไม่แน่นอนเฉพาะเจาะจง เช่น อาจใช้ขนาด 8.5" X 11.5" ใกล้เคียงกับ A 4 9.5"X 13" เป็นต้น
                        สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา มีขนาด 8 หน้ายกธรรมดา
                        สรุปได้ว่า ขนาดของสื่อสิ่งพิมพ์มีอยู่หลายขนาด เช่น หนังสือวิชาการทั่วไป เป็นขนาด 16 หน้ายก หนังสือตำราที่ใช้สอน เป็นขนาด 8 หน้ายก เป็นต้น สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา มีขนาด 8 หน้ายกธรรมดา
                    2)  การจัดเล่ม
                          ปรีชา ช้างขวัญยืน (2551: 150-153) สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนที่มีตัวหนังสือจิ๋วๆ เต็มแน่นไปทุกหน้า เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ไม่น่าอ่าน แต่หากที่มีการเว้นหน้า เว้นหลัง การเว้นบรรทัดระหว่างย่อหน้า การวางหัวข้อถี่ ๆ การแบ่งหัวข้อใหญ่หัวข้อย่อยด้วยตัวอักษรที่ต่างกัน การใส่ภาพประกอบ ภาพลายเส้น แผนภูมิ การใช้ตัวหนังสือที่ไม่เล็กเกินไป การแบ่งบทแต่ละบทที่ขนาดใกล้เคียงกันและไม่ยาวเกินไป เหล่านี้มีส่วนให้น่าอ่านยิ่งขึ้น ส่วนประกอบเท่าที่กล่าวมาแล้วเป็นเรื่องภายนอก เป็นส่วนที่จูงใจให้ผู้อ่านอยากหยิบและอยากอ่าน แต่เมื่อลงมืออ่าน ความน่าอ่านจะอยู่ที่คุณภาพทั้งด้านเนื้อหาสาระและวิธีเขียน ดังที่กล่าวมาแล้วมากกว่า คุณสมบัติข้อนี้จึงสำคัญที่สุดและเป็นส่วนที่เป็นหน้าที่ของผู้เขียนโดยตรง
                          สรุปได้ว่า การจัดเล่มเป็นการจัดเรียงส่วนประกอบต่าง ๆ ให้เป็นจุดจูงใจนักเรียนอยากอ่าน เช่น การจัดหน้า การวางหัวข้อ การใส่ภาพประกอบ แผนภูมิ การแบ่งบท เป็นต้น
                    3)  การจัดตัวพิมพ์
                          สมชาย  สหวิศิฏ์ (2542 อ้างถึงใน วรางคณา  สุขสมจินตน์ 2549: 37-42) ได้กล่าวไว้ว่า รูปแบบการจัดเนื้อหาหรือการจัดตัวพิมพ์เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญและต้องคำนึงถึง เพราะจะมีผลต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของผู้รับข้อมูล ซึ่งรูปแบบการจัดพิมพ์ที่น่าสนใจ มีดังต่อไปนี้
1.        เรียงแบบเสมอซ้าย ตัวพิมพ์จะเรียงชิดเสมอขอบแนวเส้นซ้ายมือปล่อยทิ้งปลายบรรทัดด้านขวาอย่างอิสระ ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย เนื้อความจะลื่นไหลเป็นธรรมชาติ
2.        เรียงแบบเสมอขวา ปลายบรรทัดของตัวพิมพ์เรียงชิดเสมอขอบแนวเส้นด้านขวามือ ปล่อยด้านซ้ายมือและส่วนต้นบรรทัดให้เป็นอิสระ เหมาะสำหรับข้อความจำนวนไม่มากนัก
3.        เรียงแบบปรับเต็มแนว เป็นการจัดตัวพิมพ์ให้ได้ตรงแนวทั้งซ้ายและขวา จะได้รูปแบบคอลัมน์สวยงามเป็นระเบียบ แต่เป็นวิธีเรียงพิมพ์ค่อนข้างยาก เพราะมีปัญหาเรื่อง ตัดคำท้ายบรรทัด ใช้ในงานพิมพ์ที่มีเนื้อหามากๆได้ดี เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียน สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสาร สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทวารสาร
4.        เรียงแบบกลาง เป็นการจัดแบบสมดุลซ้ายและขวาเท่ากัน ให้กึ่งกลางของแต่ละบรรทัดอยู่แนวเดียวกัน ปล่อยขอบซ้ายและขวาให้เป็นอิสระ ความยาวของแต่ละบรรทัดควรแตกต่างกันเพื่อให้เกิดรูปร่างที่น่าสนใจ นิยมใช้งานโฆษณาสั้นๆ บัตรเชิญและประกาศ
5.        แบบดุลยภาพ เป็นสภาพเว้าแหว่งทั้งซ้ายละขวาคาดเดาไม่ได้แต่ดูแล้วเกิดความสมดุลทางศิลปะ แต่ค่อนข้างยาก เหมาะสำหรับข้อความสั้นๆ เช่น งานโฆษณาสิ่งพิมพ์ธุรกิจ
6.        แบบรอยขอบภาพ เป็นการจัดตัวพิมพ์ให้สัมพันธ์กับภาพประกอบโดยเฉพาะภาพเงาหรือภาพที่ไม่มีฉากหลัง ให้ความรู้สึกกลมกลืนประสานกันเป็นหนึ่งเดียว
7.        แบบล้อมกรอบ เป็นการจัดตัวพิมพ์ให้ล้อมกรอบภาพ ปกติภาพจะเป็นภาพสี่เหลี่ยมทำให้ความยาวของบรรทัดในแต่ละตอนแตกต่างกันออกไป นิยมใช้กับหนังสือ นิตยสาร รายงานประจำปี
8.        แบบเป็นรูปธรรม เป็นการจัดตัวพิมพ์ให้เกิดรูปร่างอย่างใดอย่างหนึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาเป็นการกระตุ้นให้ตัวพิมพ์มีศักยภาพในการสื่อความหมายมากขึ้น
                          สรุปได้ว่า รูปแบบการจัดวางหนังสือมีผลต่อความสนใจของผู้อ่าน มีการจัดวางแบบเรียงเสมอซ้าย เรียงเสมอขวา เรียงปรับเต็มแนว เรียงกลาง ดุลยภาพ รอยขอบภาพ แบบล้อมกรอบและ เป็นรูปธรรม ตามความเหมาะสมและต้องการเน้นความสำคัญของเนื้อหา
                    4)  คอลัมน์
                          ยงยุทธ  รักษาศรี (2548: 452) ข้อเขียนที่บรรจุลงในหน้าของสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ไม่ค่อยนิยมวางยาวสุดหน้ากระดาษ ดังนั้น ขนาดคอลัมน์ จึงมีส่วนสำคัญเพื่อทำให้ข้อเขียนสะดวกต่อการอ่าน อ่านเร็ว การอ่านจะได้ไม่หลงบรรทัด นอกจากนั้นยังอาจยืดหยุ่นได้ โดยเฉพาะหากมีภาพประกอบจะสะดวกต่อการออกแบบหากจะแบ่งคอลัมน์ตามขนาดกระดาษ จะได้ดังนี้
1.        ขนาดกระดาษกว้าง 7 นิ้ว ควรแบ่งขนาดคอลัมน์เป็น 1 หรือ 2 คอลัมน์ ซึ่งเป็นขนาดของจดหมายข่าว แผ่นพับ
2.        ขนาดกระดาษกว้าง 8.5 นิ้ว ควรแบ่งขนาดคอลัมน์เป็น 2 หรือ 3 คอลัมน์ซึ่งเป็นขนาดของจดหมายข่าวแบบปกติ
3.        ขนาดกระดาษกว้าง 11 นิ้ว ควรแบ่งขนาดคอลัมน์ 3 ถึง 5 คอลัมน์ ซึ่งเป็นขนาดของหนังสือพิมพ์ขนาดเล็ก หรือเทปลอย
                          สำหรับช่องว่าง หรือ ความห่างระหว่างคอลัมน์ประมาณ 1 ไพก้า หรือ 1/6 นิ้ว ไม่ควรเกิน 1.5 นิ้ว หรือ 1/4 นิ้ว ส่วนช่องว่างจากขอบกระดาษถึงบริเวณเนื้อหากว้าง 3 ไพก้า หรือ 1.5 นิ้ว สำหรับทุกขนาดกระดาษ ยกเว้นกระดาษ 78.5 นิ้ว เว้นขอบว่างกว้าง 4.5 ไพก้า หรือ 3/4
                          สรุปได้ว่า คอลัมน์ เป็นการจัดอักษรให้สะดวกต่อการอ่าน จะเป็นไปตาม ขนาดของกระดาษเช่น ขนาดกว้าง 7 นิ้ว ควรแบ่งเป็น 1-2 คอลัมน์ ขนาด 8.5 นิ้ว ควรแบ่งเป็น 2-3 คอลัมน์เป็นต้น สำหรับระหว่างคอลัมน์ประมาณ 1 ไพก้า หรือ 1/6 นิ้ว
                    5)  การย่อหน้า
                          นภาลัย  สุวรรณธาดา และคณะ (2553: 40-41) และ ปรีชา  ช้างขวัญยืน (2551: 78- 80) ได้กล่าวไว้ว่า ย่อหน้า หรืออนุเฉท หมายถึง ข้อความตอนหนึ่งซึ่งมีใจความสำคัญเรื่องหนึ่งและมีประโยคขยายใจความสำคัญดังกล่าวให้แจ่มชัด
                          แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องย่อหน้าเป็นแนวคิดของตะวันตก เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในการเขียนของไทยพร้อมๆ กับเทคโนโลยีการพิมพ์และการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา แต่เดิมนั้นการเขียนของไทยไม่มีการย่อหน้าใหม่ จะเขียนติดต่อกันไปเรื่อยๆ จนจบใจความหรือหมดเรื่องที่มีอยู่ หากต้องการจะเน้นว่าเป็นการขึ้นใจความใหม่ จะใช้วรรคประกอบกับเครื่องหมายต่าง ๆ อาทิ ในสมัยสุโขทัย ใช้เครื่องหมายฟองมัน
                          ความหมายของย่อหน้าไม่มีกำหนด โดยทั่วไปในงานวิชาการมักมีความยาวประมาณ 3-10 บรรทัด หากยาวเกินไปทำให้ผู้อ่านเหนื่อยและจับใจความยาก ลักษณะการย่อหน้าที่ดีนั้น ประกอบด้วย
1.        มีเอกภาพ ย่อหน้าที่ดีควรมีเอกภาพ คือ มีใจความสำคัญเพียงอย่างเดียว หมายถึง เป็นหนึ่งด้านความคิด หรือแสดงความคิดสำคัญสุดความคิดเดียว ความคิดอื่น ๆ เป็นความคิดย่อยที่สนับสนุน หรืออธิบายความคิดที่สำคัญนั้น นอกจากเรื่องความคิดแล้วความเป็นหนึ่งยังหมายถึงเป็นหนึ่งในด้านความเสมอต้นเสมอปลายของทัศนคติ โวหาร และน้ำเสียงที่มีต่อความคิดนั้น ๆ ด้วย ประโยคขยายหรือเสริมความต้องกล่าวถึงใจความสำคัญดังกล่าวนั้น ไม่กล่าวออกไปนอกเรื่องประโยคต่าง ๆ มีความสัมพันธ์ทำให้ความหมายต่อเนื่องเป็นเรื่องราวเดียวกัน ประโยคขยายความจะช่วยเสริมให้ย่อหน้านั้นมีความสมบูรณ์ในตัวเอง คือมีความชัดเจนแจ่มแจ้งพอสมควรเมื่ออ่านย่อหน้าที่ดี 1 ย่อหน้า จึงเหมือนกับได้อ่านเรียงความสั้น ๆ 1 ตอนนั่นเอง
2.        มีสัมพันธภาพ ย่อหน้าที่ดีควรมีสัมพันธภาพ หมายถึงมีการเรียบเรียงข้อความในย่อหน้าหนึ่ง ๆ ให้เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน กับลำดับความในย่อหน้ามีระเบียบ ระเบียบความคิดที่จัดขึ้นเป็นตัวกำหนดว่าประโยคใดต้องอยู่ก่อน ประโยคใดมาทีหลัง วิธีจัดประโยคให้สัมพันธ์กันนั้นเป็นการจัดในแง่เหตุผลก็มี ในแง่อารมณ์ก็มีแต่ละแบบก็มีการจัดระเบียบความคิดชนิดต่าง ๆ เช่น ลำดับจากเหตุไปหาผล ลำดับจากการสรุปแล้วให้รายละเอียด ลำดับความตามลำดับเวลา ลำดับตามความสำคัญมากน้อย เป็นต้น
                                นอกจากย่อหน้าที่ดีควรมีสัมพันธภาพของใจความในย่อหน้าแล้ว ควรมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับย่อหน้าที่มีมาก่อน หรือย่อหน้าที่ตามมาด้วย คือ มีสัมพันธภาพระหว่างย่อหน้า
                                การเกี่ยวโยงย่อหน้าให้สัมพันธ์กันคือ การเชื่อมโยงความคิดในแต่ละย่อหน้าให้ต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน อันจะนำไปสู่สัมพันธภาพในงานเขียนทั้งเรื่องด้วย
3.        มีสารัตถภาพ ย่อหน้าที่ดีควรมีสารัตถภาพ หมายถึงการเน้นย้ำใจความสำคัญที่ควรเน้น การเน้นในความสำคัญของย่อหน้าหรือไว้ท้ายย่อหน้า ไม่ควรไว้ตรงกลางย่อหน้าเพราะจะทำให้นักเรียนจับความคิดสำคัญยากกว่า หรืออาจใช้รูปประโยคหรือวลีที่มีลักษณะซ้ำ ๆ กัน ประโยคที่จะทำให้นักเรียนสนใจมากได้แก่ประโยคที่อยู่ต้นย่อหน้าหรือท้ายย่อหน้า ประโยคที่อยู่ตอนท้ายจะทำหน้าที่ให้ผู้อ่านสนใจได้มากกว่าประโยคที่อยู่ตำแหน่งอื่น ๆ ของย่อหน้า เพราะนักเรียนมักจะต้องการทราบใจความโดยสรุปของย่อหน้า และมักจะหวังว่าผู้เขียนจะสรุปไว้ในตอนท้าย ๆ เพื่อย้ำถึงความคิดที่ต้องการเน้น การเพิ่มสารัตถภาพในย่อหน้ายังอาจทำได้โดยให้การเน้นน้ำหนักหรือสัดส่วนของข้อความที่ต้องการเน้นมากกว่าข้อความย่อย
                          สรุปได้ว่า การย่อหน้า เป็นข้อความซึ่งมีใจความสำคัญ และมีประโยคขยายใจความสำคัญให้แจ่มชัด เป็นแนวคิดของชาวตะวันตก เข้ามาเมื่อ สมัยรัชกาลที่ 5 สำหรับลักษณะการย่อหน้าที่ดี ต้องมีเอกภาพที่เป็นหนึ่งด้านความคิด มีความชัดเจนเมื่ออ่านจบย่อหน้า มีสัมพันธภาพมีความเรียบเรียงให้เกี่ยวข้องกัน เป็นตัวกำหนดว่าประโยคใดต้องอยู่ก่อนหลัง และ มีสารัตถภาพ เป็น การเน้นย้ำใจความสำคัญ ทำให้นักเรียนสนใจมากขึ้น      
                    6)  การกำหนดเลขหน้า
                          ยงยุทธ  รักษาศรี (2548: 455) ได้กล่าวไว้ว่า สื่อสิ่งพิมพ์โดยทั่วไปจะระบุเลขที่ของแต่ละหน้า ชื่อของสิ่งพิมพ์ และวันเดือนปีไว้ทุก ๆ หน้า และมักจะพิมพ์ไว้ในบริเวณขอบกระดาษ ซึ่งอาจเป็นส่วนล่างหรือส่วนบนของแต่ละหน้า ช่วยให้สะดวกในการเปิดหาเนื้อหา
                          สรุปได้ว่า การกำหนดเลขหน้า มักพิมพ์ไว้บนขอบกระดาษ ด้านบน หรือด้านล่างส่วนใดส่วนหนึ่ง ช่วยให้สะดวกในการเปิดหาเนื้อหา
        2.4.2   การออกแบบ
                    ศิริพงศ์  พยอมแย้ม (อ้างถึงใน สุรสิทธิ์  วิทยารัฐ 2546: 180-190) ได้กล่าวไว้ว่า การออกแบบ เป็นการกำหนดออกมา กะ หรือ ขีดเขียนไว้ เป้าหมายที่ได้แสดงออกมา ซึ่งรวมถึงการ แสดงออกของสิ่งของที่อยู่ในความรู้สึก ความคิด อาจเป็นโครงการ รูปแบบ หรือ แผนผัง ซึ่งผู้ออกแบบได้กำหนดขึ้นด้วยท่าทาง ถ้อยคำ เส้น สี แสง รูปร่าง โครงสร้าง ลักษณะพื้นผิวตามหลักเกณฑ์ เช่น
1.        องค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่
1.1       จุด เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญ เพราะเป็นจุดกำเนิดของเส้นละน้ำหนักของภาพ          
1.2       เส้น เกิดจากการเดินทาง หรือต่อเนื่องของจุดในลักษณะทิศทางเดียว เช่นเส้นนอน เส้นตั้ง เส้น เฉียง เส้นโค้ง เส้นซิกแซก เส้นคลื่น ฯ
1.3       รูปร่าง และรูปทรง เกิดจากการเดินทางครบวงจร ในการออกแบบมักกล่าวถึงรูปร่าง และรูปทรงควบคู่กันไป ซึ่งรูปร่างเป็น 2 มิติ ได้แก่ ความกว้างและความยาว ระนาบแบน รูปทรง มี 3 มิติ ได้แก่ความกว้าง ความยาว และความลึก
1.4       แสงและเงา เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรู้สึกต่อลักษณะ 3 มิติ ของรูปทรงได้ชัดเจน
1.5       ช่องว่าง เป็นการกำหนดช่องว่างในตัว วัตถุหรือตัวรูป ช่องว่างรอบตัววัตถุหรือพื้น
1.6       สี เป็นองค์ประกอบมูลฐานที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึก และการรับรู้ของนักเรียน
1.7       ลักษณะพื้นผิว ลักษณะความรู้สึกในการจำแนกความเรียบง่ายหรือความขรุขระของผิววัตถุจากการสัมผัสทางสายตา ลักษณะพื้นผิวที่มีความแตกต่างกันย่อมเร้าให้ผู้ดูเกิดความสนใจ ความแปลกตาไม่น่าเบื่อหน่าย
2.        หลักการออกแบบที่สำคัญ ได้แก่
2.1       หลักความสมดุล เป็นการกำหนดและจัดวางองค์ประกอบมูลฐานให้มีน้ำหนัก และขนาดในสัดส่วนที่เท่า ๆ กันทั้งสองข้าง
2.2       ความมีเอกภาพ เป็นการจัดองค์ประกอบให้มีการรวมตัวกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยไม่แตกแยก กระจัดกระจาย
2.3       การเน้นจุดแห่งความสนใจ เป็นการสร้างจุดแห่งความสนใจโดยกำหนดบริเวณใด บริเวณหนึ่งให้เหมาะสม ให้มีลักษณะพิเศษกว่าบริเวณอื่น
2.4       ความมีสัดส่วน เป็นการจัดวางองค์ประกอบ โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ของขนาด รูปร่างขององค์ประกอบ เช่น ตัวอักษร รูปภาพประกอบ บนหน้ากระดาษ และความสัมพันธ์ระหว่างด้านกว้างและด้านยาวของสื่อสิ่งพิมพ์
2.5       จังหวะเป็นการวางองค์ประกอบมูลฐานทางศิลปะให้มีระยะตำแหน่งขององค์ประกอบเป็นช่วง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกเคลื่อนไหวต่อเนื่องและความมีทิศทางของนักเรียน
2.6       ความเรียบง่าย เป็นการวางองค์ประกอบในการจัดภาพ ควรเน้นความเรียบง่าย ไม่รกรุงรัง เพื่อให้ง่ายต่อการรับรู้ของนักเรียน
                        สรุปได้ว่า คุณภาพด้านการออกแบบ เป็นการกำหนดออกมา เป้าหมายที่แสดงออกรวมถึง ความรู้สึก ความคิด ซึ่งกำหนดด้วยเส้น สี แสดง รูปต่าง ๆ มีหลักการออกแบบที่สำคัญ ประกอบด้วย ความสมดุล ความมีเอกภาพ การเน้นความสนใจ ความมีสัดส่วน จังหวะ
เรียบง่าย
        2.4.3   กระดาษที่ใช้
                    ปราณี  เชียงทอง (2526: 129 อ้างถึงใน บุญศิริ  ฤทธิ์บัณฑิต 2549: 41-42) ได้กล่าวไว้ว่าหนังสือเรียนควรเลือกใช้กระดาษที่มีคุณภาพดี ความหนาของกระดาษควรหนาพอสมควร สำหรับ
                    การพิมพ์ควรใช้กระดาษปอนด์ขนาด 100 แกรมขึ้นไป เพื่อให้คงทนถาวร ต่อการหยิบฉวยและเปิดอ่านของนักเรียนซึ่งยังไม่รู้วิธีถนอมหนังสือ ส่วนปกควรมีความเหนียว น้ำหนักไม่มากนัก คงทนถาวร ไม่ขาดง่าย เป็นต้น หรือใบรองปกควรเป็นกระดาษค่อนข้างแข็ง มีความเหนียวสามารถยึดปกติดกับตัวเล่มได้ดี สำหรับน้ำหนักของกระดาษนั้นไม่ควรใช้กระดาษที่มีน้ำหนักมากมาพิมพ์ เพราะต้องคำนึงถึงความสะดวกในการหยิบถือ เปิดอ่านของนักเรียน และความไม่สะดวกในการขนส่ง ชนิดของกระดาษควรเลือกใช้แบบที่ใช้ถนอมสายตาเพื่อสุขภาพของนักเรียน
                    สรุปได้ว่า กระดาษที่ใช้ ควรเลือกกระดาษปอนด์ขนาด 100 แกรม เพื่อความคงทนถาวรต่อการหยิบฉวยและเปิดอ่าน มีความเหนียวยึดติดกับตัวเล่มหนังสือได้ดี นำหนักของกระดาษควรสะดวกในการหยิบถือ และเป็นกระดาษแบบถนอมสายตา     
2.5  ลักษณะของหนังสือเรียนที่ดี
        ปิฏฐะ  บุญนาค (2543 อ้างถึงใน วรรณธีรา  สุทธิชล 2546: 12) ได้กล่าวไว้ว่า ลักษณะของหนังสือเรียนที่ดี มีดังนี้
1.        รูปเล่มควรจะเป็นแบบลักษณะมาตรฐานสากลทั่วไป มีสภาพคงทนพอสมควร
2.        การจัดลำดับเนื้อหาสาระ หรือบทต่าง ๆ ในเล่มควรเป็นไปด้วยดี สะดวกในการค้นคว้า มีสารบัญ หรือดรรชนี เพื่อค้นคว้าหารายละเอียดได้ง่าย
3.        (3)ใช้ภาษาถ้อยคำ และศัพท์เทคนิคให้เหมาะสมกับระดับของนักเรียน เขียนตรงตามวัตถุประสงค์ในการแต่งหนังสือ ใจความกะทัดรัดได้ความแน่นอน ศัพท์เทคนิคภาษาไทยที่ใช้ควรวงเล็บภาษาต่างประเทศไว้ด้วย เพื่อจะได้เข้าใจความหมายที่ถูกต้อง
4.        หากมีรูปภาพเขียน ภาพถ่าย รูปแผนภูมิ กราฟ อย่างใดอย่างหนึ่งให้จัดวางในลักษณะที่ใกล้เคียงหรือสัมพันธ์กับเรื่อง หรือเนื้อหาสาระ แต่ละรูปควรมีเลขที่เรียงลำดับไว้เพื่อสะดวกแก่ผู้ใช้ภาพทุกชนิดอย่างชัดเจน และเน้นคำสำคัญที่ต้องการเน้น
5.        หากมีเอกสารอ้างอิงให้ทราบว่า ข้อความหรือเนื้อหาสาระในหนังสือนั้นยึดถือหรือได้ข้อมูลมาจากไหนบ้างเพื่อให้ผู้อ่านตามไปหาอ่านเอกสารอ้างอิงตรวจสอบหรือดูรายละเอียดเพิ่มเติม
6.        เนื้อหาสาระเชื่อถือได้ นำไปปฏิบัติได้ เกิดประโยชน์ตามความต้องการหรือตามวัตถุประสงค์
        บุญเหลือ  เทพยสุวรรณ (2543 อ้างถึงใน วรรณธีรา  สุทธิชล 2546: 12) ได้กล่าวถึง ลักษณะของหนังสือเรียนที่ดีไว้ ดังนี้
1.        เป็นหนังสือที่มุ่งให้ความรู้ ในการเขียน ผู้เขียนมุ่งให้ความรู้มากกว่าให้ความเพลิดเพลินแก่นักเรียน แต่ถ้าผู้เขียนสามารถก็ควรมีวิธีเขียนที่ให้ความสะดวกแก่นักเรียน
2.        มีการลำดับขั้นตอน โดยไม่คำนึงถึงศิลปะการประพันธ์ มุ่งให้ความสะดวกแก่การเรียนวิชาที่บรรจุอยู่ในหนังสือนั้น
3.        ใช้ศัพท์และสำนวนที่มีความหมายเชิงวิชาการ ควรจะต้องมีการนิยามศัพท์ที่ให้ความหมายตามข้อกำหนดเพื่อใช้ในการเรียนตำรานั้น และต้องใช้ศัพท์ในความหมายนั้นให้เสมอต้นเสมอปลายตลอดเรื่อง
4.        ความรู้ที่บรรจุในหนังสือนั้น จะต้องเป็นความรู้ที่คนในวงการเดียวกันรับรองแล้วถ้ามีข้อความใดที่ยังอยู่ระหว่างการโต้แย้ง จะต้องบอกแง่คิดทั้งสองแง่หรือมากกว่านั้น หากข้อความใดเป็นข้อสังเกตของผู้เขียนเอง หรือข้อคิดเห็นของผู้ใดก็ตามผู้เขียนจะต้องบอกไว้
5.        ข้อความใดซึ่งยังไม่เป็นที่ประจักษ์แพร่หลายในวงการ ที่หนังสือนั้นนำมากล่าวไว้ นักเขียนจะต้องบอกแหล่งที่มาของความรู้นั้น เพื่อนักเรียนได้ทดสอบ และสามารถค้นหาความรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป

        โรเบริต เอ็น เคนทอร์ (Robert N. Kantor 1983 อ้างถึงใน สมพร  จารุนัฏ 2547: 39) ได้กล่าวไว้ว่า หนังสือเรียนที่ดีควรเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นและจัดทำขึ้นโดยที่นักเรียนสามารถอ่าน ศึกษาทำความเข้าใจเนื้อหาในระดับรายละเอียด และความคิดรวบยอดต่าง ๆ ได้ หนังสือเรียนที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว ควรมีคุณสมบัติในเรื่องต่อไปนี้ คือ
1.        มีโครงสร้างการนำเสนอ ที่จัดเรียงเนื้อหาแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหาและความคิดรวบยอดต่าง ๆ ได้ชัดเจน
2.        มีสันติภาพ นั่นคือมีลักษณะการเรียบเรียงที่เสนอให้เห็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของเนื้อหาและความคิดรวบยอดอย่างชัดเจน ทั้งในระดับประโยคเนื่องกับประโยค และในระดับความเชื่อมโยงของความคิดรวบยอดในแต่ละย่อหน้าจนถึงระดับทั้งตอนและทั้งบท
3.        ความมีเอกภาพ ซึ่งหมายถึงระดับของการนำเสนอที่เนื้อหา และความคิดที่กล่าวสอดคล้องตรงตามประเด็นหัวข้อเรื่อง หรือตรงตามวัตถุประสงค์ของการนำเสนอหัวข้อเรื่องนั้น ๆ ไม่เฉไฉออกไปนอกเรื่อง
4.        ความเหมาะสมกับนักเรียน ซึ่งหมายถึงว่า หนังสือเรียนมีโครงสร้างการนำเสนอเรื่องที่ดี มีสัมพันธ์เอกภาพที่เหมาะสมที่นักเรียนสามารถทำความเข้าใจและเรียนรู้ เกี่ยวกับโครงสร้างการนำเสนอ เนื้อหา และความคิดรวบยอดต่าง ๆ ที่ไม่ซับซ้อนเกินไป การใช้ภาษาอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับความรู้ความสามารถของนักเรียนที่จะอ่านและตีความ ตลอดจนเนื้อหาที่นำเสนอมีความเชื่อมโยงกับความรู้และประสบการณ์ที่นักเรียนมีอยู่ซึ่งจะทำให้อ่านหนังสือเรียนด้วยความเข้าใจ
        สรุปได้ว่า ลักษณะของหนังสือเรียนที่ดี รูปเล่มได้มาตรฐาน มีการจัดเนื้อหาสาระ ถ้อยคำ รูปภาพ การอ้างอิง มีโครงสร้างการนำเสนอ มีสันติภาพ มีเอกภาพเหมาะสมกับนักเรียน ซึ่งเป็นหนังสือที่ให้ความรู้ ที่มีการรับรองจากผู้อยู่ในวงการนั้น ๆ

3.  การใช้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา

ผู้วิจัยได้ศึกษา การใช้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา ครอบคลุม (1) ความหมายของการใช้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา และ (2) แนวทางการใช้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา
3.1  ความหมายของ การใช้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา
        พจนานุกรม ฉบับทันสมัยและสมบูรณ์ (2552: 107) ได้กล่าวว่า การ หมายถึง สิ่งหรือเรื่องที่ทำ
        พจนานุกรม ฉบับทันสมัยและสมบูรณ์ (2552: 362) ได้กล่าวว่า ใช้ หมายถึง นำมาทำให้เกิดประโยชน์
        สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา เป็นเอกสารที่จัดพิมพ์โดยมีวัตถุประสงค์เป็นข้อเขียนที่ให้ความรู้ เกิดประโยชน์และให้ความรู้แก่ผู้อ่านได้จำนวนมากในรูปสื่อสิ่งพิมพ์หรือเขียนลงบนกระดาษ
        สรุปได้ว่า การใช้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา เป็นการนำสื่อสิ่งพิมพ์ที่จัดพิมพ์เพื่อให้ความรู้ เกิดประโยชน์และให้ความรู้ในรูปสื่อสิ่งพิมพ์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาแก่นักเรียนได้จำนวนมาก
3.2  แนวทางการใช้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา
        ผู้วิจัยได้ศึกษาแนวทางการใช้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา ครอบคลุม (1) การใช้สำหรับการเรียนในชั่วโมงเรียน และ (2) การใช้สำหรับการเรียนนอกชั่วโมงเรียน
        3.2.1   การใช้สำหรับการเรียนโดยตรง ในชั่วโมงเรียน
                    ทิพย์เกสร บุญอำไพ (2549: 16) ได้กล่าวว่า การใช้สื่อสิ่งพิมพ์เป็นสื่อหลักเพื่อการศึกษาเป็นการใช้ในการถ่ายทอดความรู้ไปสู่นักเรียนเป็นหลักแต่ยังมีสิ่งอื่นๆ อีกหลายประเภทที่ได้ถูกนำมาใช้ประกอบการเรียนการสอน เพื่อเสริมเติมเต็มหรือขยายความรู้ที่อยู่ในหนังสือเรียนออกไปอีก เช่น สื่อทางด้านวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ เทปเสียง เทปภาพ และบทเรียนคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ตามปกติในระบบการศึกษาในโรงเรียน จะกำหนดสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาไว้ประกอบหลักสูตร เพื่อให้นักเรียนสามารถมีความรู้ ความเข้าใจ และพัฒนาความรู้ความสามารถตามระดับชั้น สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาในข้อนี้จึงเป็นส่วนในการถ่ายทอดความรู้ด้านต่างๆ ให้แก่นักเรียนอย่างเหมาะสมตามวัยต่างๆ และอาจจะแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ สำหรับนักเรียน และสำหรับครู
                    1)  สื่อสิ่งพิมพ์สำหรับนักเรียน ได้แก่ หนังสือเรียนต่างๆ ที่กำหนดให้ใช้ตามระดับชั้นหนังสือ แบบฝึกหัด หรือแบบฝึกหัด สำหรับให้นักเรียนทำกิจกรรม ใบความรู้ ใบงาน แบบทดสอบ ภาพ แผนภูมิ แผนภาพ และโปสเตอร์
                    2)  สื่อสิ่งพิมพ์สำหรับครู ได้แก่ หนังสือ คู่มือครูในการประกอบกิจกรรมตามหลักสูตร แผนการสอน ใบความรู้และใบงาน แบบทดสอบ และภาพประกอบการสอน
                    สรุปได้ว่า การใช้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาสำหรับการเรียนโดยตรงเป็นการถ่ายทอดแก่นักเรียนจำนวนมาก ประกอบกับสื่อประเภทอื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถนำมาใช้ประกอบการเรียนได้ แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ สำหรับนักเรียน และสำหรับครู

        3.2.2   การใช้สำหรับการเรียนนอกชั่วโมงเรียน
                    ผู้วิจัยได้ศึกษาสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาสำหรับการเรียนนอกชั่วโมงเรียน ครอบคลุม (1) การใช้สำหรับความรู้ทั่วไป (2) การใช้เป็นสื่อเสริมเพื่อการศึกษา และ (3) การใช้สำหรับการค้นคว้าอ้างอิง
                    1)  การใช้สำหรับความรู้ทั่วไป
                          ทิพย์เกสร  บุญอำไพ (2549: 18) ได้กล่าวไว้ว่า สื่อสิ่งพิมพ์ที่จัดจำหน่ายอยู่ทุกวันนี้มีมากมายหลายประเภททั้งหนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสารรายสัปดาห์ รายเดือน รายปี รวมทั้งวารสารและจุลสารต่างๆสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้จะมีคอลัมน์และบทความต่างๆที่เป็นความรู้ทั่วไปมีประโยชน์ทั้งด้านการศึกษาและความรู้ทั่วไปสำหรับชีวิตประจำวันถ้ารู้จักเลือกสรร แต่อาจมีหนังสือบางประเภทที่ไม่เหมาะสำหรับเด็กและเยาวชน ผู้ปกครองและครูควรจะมีบทบาทในการแนะนำสื่อสิ่งพิมพ์ที่เหมาะสมให้นักเรียนได้อ่าน เพื่อเสริมสติปัญญาและความรอบรู้ให้แก่ตน
                          สรุปได้ว่า การใช้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาสำหรับความรู้ทั่วไปมีประโยชน์ต่อการศึกษาและการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ครูมีบทบาทสำคัญในการแนะนำให้นักเรียนรู้จักการเลือกอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ที่เหมาะกับตน
                    2)  การใช้เป็นสื่อเสริมเพื่อการศึกษา
                          ชัยยงค์  พรหมวงค์ และคณะ (2525: 526) ได้กล่าวว่า การใช้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา เป็นการใช้ร่วมกับสื่ออื่นๆ ใช้เป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์การสอน เป็นสื่อเสริมในการเรียนรู้และประสบการณ์เป็นแหล่งที่ใช้ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมนอกเหนือไปจากครูสอนปกติ
                          สรุปได้ว่า การใช้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาเป็นสื่อเสริมการเรียนรู้และประสบการณ์เพิ่มเติมนอกเหนือจากครูสอนปกติ 
                    3)  การใช้สำหรับการค้นคว้าอ้างอิง
                          ทิพย์เกสร  บุญอำไพ (2549: 17) ได้กล่าวว่า ความรู้ที่มีอยู่เฉพาะในสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาอาจไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบัน เนื่องจากนักเรียนได้มีโอกาสสังเกตมองเห็นและเรียนรู้จากสื่อหลายๆอย่างรอบด้าน จึงมีข้อสงสัยและอยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมมากขึ้น สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาเป็นแหล่งความรู้ที่ครูและนักเรียนสามารถไปค้นคว้าได้ง่ายจากห้องสมุด มีสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษามากมายที่จะแสวงหาความรู้เพิ่มเติมได้ทุกด้าน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้แต่งจำนวนมากเป็นที่เชื่อถือของบุคคลทั่วไป ครูและนักเรียนสามารถนำมาอ้างอิง เพื่อเพิ่มเติมความรู้ให้กว้างขวางออกไป

                          ในการใช้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาสำหรับการค้นคว้าอ้างอิงนั้นมีหลักการควรปฏิบัติเพื่อให้สิ่งที่จะนำมาเสนอหรือนำมาเขียนหรือบอกเล่าต่อเป็นที่น่าเชื่อถือ และให้เกียรติแก่ผู้เขียนได้นั้น ควรระบุสิ่งต่อไปนี้ในวงเล็บต่อท้ายข้อความนั้นด้วยคือ (1) ชื่อผู้แต่ง (2) ชื่อสำนักพิมพ์ และ (3) ปีที่พิมพ์และบางครั้งอาจระบุเลขหน้าด้วย
                          สรุปได้ว่า การใช้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาสำหรับการค้นคว้าอ้างอิงเป็นการบอกแหล่งที่มาของเนื้อหาและเป็นแหล่งแสวงหาความรู้เพิ่มเติมได้ทุกด้าน

4.  หนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนา

ผู้วิจัยได้ศึกษา เกี่ยวกับหนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนา ครอบคลุม ( 1) กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และ(2) หนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนา
4.1  กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
        กระทรวงศึกษาธิการ (2551: 132-134) ได้กล่าวไว้ว่า กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ช่วยให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ การดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งในฐานะ ปัจเจกบุคคลและการอยู่ร่วมกันในสังคม การปรับตัวตามสภาพแวดล้อม การจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เข้าใจถึงการพัฒนา เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย กาลเวลา ตามเหตุปัจจัยต่างๆ เกิดความเข้าใจในตนเอง และผู้อื่น มีความอดทน อดกลั้น ยอมรับในความแตกต่าง และมีคุณธรรม สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ และสังคมโลก ที่มีความเชื่อมสัมพันธ์กัน และมีความแตกต่างกันอย่างหลากหลาย เพื่อช่วยให้สามารถปรับตนเองกับบริบทสภาพแวดล้อม เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบ มีความรู้ ทักษะ คุณธรรม และค่านิยมที่เหมาะสม โดยได้กำหนดสาระต่างๆไว้ ประกอบด้วย ศาสนา ศีลธรรมและจริยธรรม หน้าที่พลเมือง เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์
        ในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ศึกษาเฉพาะสาระ ศาสนา ศีลธรรมและจริยธรรม ซึ่งมีแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม หลักธรรมของพระพุทธศาสนาหรือศาสนาที่ตนนับถือ การนำหลักธรรมคำสอนไปปฏิบัติในการพัฒนาตนเอง และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เป็นผู้กระทำความดี มีค่านิยมที่ดีงาม พัฒนาตนเองอยู่เสมอ รวมทั้งบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและส่วนรวม
        สรุปได้ว่า กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ช่วยให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินชีวิตมีความอดทน และมีคุณธรรม สามารถปรับตนเองกับบริบทสภาพแวดล้อมในส่วนของสาระศาสนา ศีลธรรมและจริยธรรม เป็นการนำหลักธรรมคำสอนไปปฏิบัติตามในการพัฒนาตนเองและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
4.2  หนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนา
        หนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนาที่โรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติใช้ประกอบ
การเรียนการสอนนั้น ได้รับงบประมาณสนับสนุนตามโครงการเรียนฟรี
15 ปี จากกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการจัดซื้อตามมติที่ประชุม พิจารณาร่วมกันคัดเลือกให้เหมาะสมตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ขนาด 8 หน้ายก ระบบพิมพ์ 4 สี ขนาดตัวอักษร20 พ้อยท์ จำนวน 138 หน้า มีเนื้อหาที่ส่งเสริมกระบวนการคิด การสืบเสาะหาความรู้ การแก้ปัญหา ความสามารถในการสื่อสาร การตัดสินใจ การนำไปใช้ในชีวิต ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีค่านิยมที่ดีงาม พัฒนาตนเองอยู่เสมอ รวมถึงการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและส่วนรวม ประกอบด้วย 6 หน่วย ดังนี้
        4.2.1   หน่วยการเรียนรู้ที่เสนอในหนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนาชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
                    หน่วยการเรียนรู้ที่ 1    ประวัติและความสำคัญของพุทธศาสนา
                                                            บทที่ 1    ความสำคัญของพระพุทธศาสนา
                                                            บทที่ 2    พระพุทธประวัติ
                    หน่วยการเรียนรู้ที่ 2    หลักธรรมค้ำจุนโลก
                                                            บทที่ 1    พระรัตนตรัย
                                                            บทที่ 2    หลักธรรมนำชาวพุทธ
                                                            บทที่ 3    เรื่องน่ารู้คู่พุทธศาสน์
                    หน่วยการเรียนรู้ที่ 3    พุทธสาวกและชาดก
                                                            บทที่ 1    พุทธสาวก
                                                            บทที่ 2    ชาดก
                    หน่วยการเรียนรู้ที่ 4    ชาวพุทธที่ดี ชีวีมีสุข
                                                            บทที่ 1    หน้าที่ของชาวพุทธ
                                                            บทที่ 2    ชาวพุทธตัวอย่าง
                                                            บทที่ 3    มารยาทชาวพุทธ
                    หน่วยการเรียนรู้ที่ 5    จิตสงบ พบความสุข
                                                            บทที่ 1    การบริหารจิตและการเจริญปัญญา
                                                            บทที่ 2    สมาธิเบื้องต้น

        4.2.2   หน่วยการเรียนรู้ที่เสนอในหนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
                    หน่วยการเรียนรู้ที่ 1    ประวัติและความสำคัญของพระพุทธศาสนา
                                                            บทที่ 1    ความสำคัญของพระพุทธศาสนา
                                                            บทที่ 2    พุทธประวัติ
                    หน่วยการเรียนรู้ที่ 2    หลักธรรมค้ำจุนโลก
                                                            บทที่ 1    โอวาท 3
                                                            บทที่ 2    หลักธรรมนำชาวพุทธ
                                                            บทที่ 3    เรื่องน่ารู้คู่พุทธศาสน์
                    หน่วยการเรียนรู้ที่ 3    พุทธสาวกและชาดก
                                                            บทที่ 1    พุทธสาวก
                                                            บทที่ 2    ชาดก
                    หน่วยการเรียนรู้ที่ 4    ชาวพุทธที่ดี ชีวีมีสุข
                                                            บทที่ 1    ชาวพุทธตัวอย่าง
                                                            บทที่ 2    มารยาทชาวพุทธ
                    หน่วยการเรียนรู้ที่ 5    จิตสงบ พบความสุข
                                                            บทที่ 1    การบริหารจิตและเจริญปัญญา
                                                            บทที่ 2    สมาธิเบื้องต้น
                    หน่วยการเรียนรู้ที่ 6    วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และศาสนพิธี
                                                            บทที่ 1    วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
                                                            บทที่ 2    ศาสนพิธีน่ารู้  
        ในแต่ละหน่วยแบ่งเป็นหัวข้อย่อยๆ (จงจรัส  แจ่มจันทร์ และคณะ 2551: คำนำ) คือ
1.        เป้าหมายการเรียนรู้ประจำหน่วย กำหนดระดับความรู้ ความสามารถของนักเรียนว่าเมื่อเรียนจบในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ ต้องบรรลุมาตรฐานตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ในหลักสูตรข้อใดบ้าง
2.        แนวคิดสำคัญ แก่นความรู้ที่เป็นความรู้ความเข้าใจคงทนติดตัวนักเรียน
3.        เนื้อหา ครบตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 รวมทั้งนำเสนอเหมาะสมกับการเรียนการสอนในแต่ละระดับชั้น
4.        กิจกรรม มีหลากหลายรูปแบบให้นักเรียนปฏิบัติ แบ่งเป็น
5.        กิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียน นำเข้าสู่บทเรียนเพื่อกระตุ้นความสนใจแก่นักเรียน
6.        กิจกรรมรวบยอด ให้ผู้เรียนปฏิบัติเพื่อแสดงพฤติกรรมการเรียนรู้รวบยอดและประเมินผลการเรียนรู้ตามมาตรฐานตัวชี้วัดประจำหน่วย

5.  งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

5.1  งานวิจัยภายในประเทศ
        จากการศึกษางานวิจัยภายในประเทศที่เกี่ยวข้องผู้วิจัยได้ศึกษางานวิจัยเกี่ยวข้องกับการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนในระดับชั้นประถมแต่ไม่พบ จึงได้ศึกษางานวิจัยในระดับมัธยมศึกษาแทน พบงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 งาน ดังนี้
        สุระ  ดามาพงษ์ (2527: 178-203 อ้างถึงใน วรรณธีรา  สุทธิชล 2546: 19) ได้วิเคราะห์หนังสือภาษาไทยชุดวรรณจักษ์ เล่ม 2 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในด้านเนื้อหา ในการเรียนการสอน ในโรงเรียนชั้นมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร ผลปรากฏโดยสรุปดังนี้ (1) นักเรียนพอใจบทเรียนต่างๆ ในหนังสือปานกลาง บทเรียนที่นักเรียนพอใจมากที่สุด คือ เราคือลูกแม่พระธรณี บทเรียนที่นักเรียนพอใจค่อนข้างน้อย คือ ลิลิตตะเลงพ่าย (2) นักเรียนเห็นว่า กิจกรรมในการอ่านหนังสือเล่มนี้ มีอย่างเพียงพอ ส่วนกิจกรรมด้านการพูด การเขียน การฟังมีค่อนข้างน้อย (3) นักเรียนเห็นว่า หนังสือเล่มนี้ให้ความรู้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนมากช่วยให้นักเรียนรู้จักคิดหาเหตุผลด้วยตนเอง และส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักแสดงความคิดเห็น และ (4) นักเรียนพอใจขนาดรูปเล่มของหนังสือมาก ขนาดตัวอักษรที่ใช้พิมพ์มีความเหมาะสม และเห็นว่าการเว้นวรรคตอนในหนังสือเล่มนี้เหมาะสมสะดวกต่อการอ่าน
        ไพโรจน์  เบาใจ (2536: บทคัดย่อ อ้างถึงใน วรรณธีรา  สุทธิชล 2546: 19) ได้ศึกษาวิจัยเรื่ององค์ประกอบทางกายภาพของหนังสือที่เป็นสาเหตุให้เด็กอ่านหนังสือแบบเรียน โดยมุ่งศึกษาทั้งองค์ประกอบหลักและองค์ประกอบย่อยของหนังสือเรียนที่เด็กระดับมัธยมศึกษา องค์ประกอบหลักคือ รูปภาพ ชื่อหนังสือ สีและแบบ อักษร ขนาดตัวอักษร การเข้าเล่ม การจัดหน้า เนื้อหากระดาษ ปก ขนาดเล่ม และผู้แต่ง ส่วนองค์ประกอบย่อย คือ ภาพวาดเหมือนจริง รูปภาพเป็นสีธรรมชาติ ใช้กระดาษอาร์ต ลักษณะเล่มแนวตั้ง เย็บเล่มด้วยลวด รู้จักผู้แต่ง พิมพ์จากสำนักพิมพ์ใด พิมพ์ในปีปัจจุบัน และราคาปานกลาง เป็นต้น ขนาดตัวอักษรพบว่าตัวอักษรที่เหมาะสมกับผู้เรียนในวัยนี้คือขนาด 16 พอยท์
        วรรณธีรา  สุทธิชล (2546: บทคัดย่อ) ได้ทำการศึกษาความคิดเห็นของครูและนักเรียนที่มีต่อหนังสือสารัตถะทักษสัมพันธ์ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ผลการวิจัยพบว่า โดยภาพรวมของหนังสือเรียนในทุกด้านอยู่ในระดับเห็นด้วย ได้แก่ ด้านเนื้อหาและการนำเสนอเนื้อหา ด้านการใช้ภาษา ภาพประกอบ กิจกรรมท้ายบท ลักษณะรูปและการพิมพ์ และคุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับ
        สรุปจาการศึกษางานวิจัยทั้ง 3 เรื่อง ผู้วิจัยพบว่า การใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนมีบทบาทสำคัญต่อการเรียนการสอนทุกยุคสมัย เพราะมีองค์ประกอบที่เหมาะสม และมีเนื้อหาที่มีทั้งตัวอักษรและภาพประกอบ ช่วยอธิบายเรื่องราวต่างๆให้เข้าใจได้ง่าย
5.2  งานวิจัยจากต่างประเทศ
        บอนเน่ บี. อาร์มบรัสเตอร์ และ โทมัส เอช. (Bonnie B. Armbruster และ Thomas H. 1984 อ้างถึงใน สมพร จารุนัฏ 2547: 39-40) ได้วิเคราะห์หนังสือเรียนสังคมศึกษาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งเฉพาะหน่วยการเรียนเรื่องแอฟริกา ตามคุณสมบัติทั้ง 4 ประการ คือ มีโครงสร้าง มีสัมพันธภาพ มีเอกภาพ และมีความเหมาะสมกับผู้อ่านเป้าหมาย พบว่า หนังสือเรียนหน่วยนี้ขาดความชัดเจนทั้งในเรื่องโครงสร้าง เอกภาพ สัมพันธภาพ และความเหมาะสมกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
        แจน เอช. ออสบอร์น (Jean H. Osborn 1985 อ้างถึงใน สมพร จารุนัฏ 2547: 40) ได้เสนอผลการวิจัยเรื่องที่มีผู้ศึกษาเกี่ยวกับการใช้หนังสือเรียน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้น พบว่า ในหนังสือเรียนที่ให้นักเรียนเรียนมีเนื้อหาไกลตัวเด็ก และห่างไกลจากชีวิตจริงที่นักเรียนประสบ
        สรุปจาการศึกษางานวิจัยทั้ง 3 เรื่อง ผู้วิจัยพบว่า สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนขาดความชัดเจนในเรื่องโครงสร้าง เอกภาพ สัมพันธภาพ และความเหมาสม อีกทั้งเนื้อหายังไกลจากชีวิตจริงของนักเรียน จึงควรปรับปรุงในเรื่องดังกล่าวให้มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์แก่นักเรียนให้มากที่สุด

        

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น