วิทยานิพนธ์ พระมหาศรพนา บทที่ 5

บทที่ 5
สรุปการวิจัย อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ


การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจเพื่อศึกษาเรื่องการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา สำหรับนักเรียนโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1 ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถาม สรุปผลการวิจัย การอภิปรายผล และข้อเสนอแนะตามลำดับ ดังนี้

1.  สรุปผลการวิจัย
                   
1.1  รูปแบบการวิจัย เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ
1.2  วัตถุประสงค์การวิจัย
        1.2.1  วัตถุประสงค์ทั่วไป
                    เพื่อศึกษาการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา ตามความคิดเห็นของนักเรียนโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่การศึกษาประถม ศึกษานนทบุรี เขต 1
        1.2.2  วัตถุประสงค์เฉพาะ
                    1)  เพื่อศึกษาการใช้เนื้อหาและเทคนิคของสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา
                    2)  เพื่อศึกษาการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา ในชั่วโมงเรียนและนอกชั่วโมงเรียน            
                    3)  เพื่อศึกษาประโยชน์จากการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา   
1.3  วิธีการดำเนินการวิจัย
        1.3.1  ประชากร ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ของโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1 ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555 จำนวน 220 คน
        1.3.2  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามเรื่องการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา สำหรับนักเรียนโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1 เป็นแบบสอบถามชนิดเลือกตอบ มีขั้นตอนการสร้างแบบสอบถาม ดังนี้ ขั้นที่ 1 กำหนดขอบข่ายเนื้อหาที่จะสอบถาม ขั้นที่ 2 ศึกษาค้นคว้าจากเอกสารและตำราเกี่ยวกับงานวิจัยเพื่อสร้างแบบสอบถาม ขั้นที่ 3 กำหนดรูปแบบของแบบสอบถาม ขั้นที่ 4 สร้างแบบสอบถาม ขั้นที่ 5 ตรวจสอบแบบสอบถามโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ขั้นที่ 6 ปรับปรุงแบบสอบถามตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิ ขั้นที่ 7 ทดลองใช้แบบสอบถาม และ ขั้นที่ 8 จัดพิมพ์แบบสอบถามฉบับสมบูรณ์
        1.3.3  การเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยได้จัดส่งและจัดเก็บข้อมูลแบบสอบถามด้วยตนเองประกอบด้วย นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ของโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2 จำนวน 220 ฉบับ ทั้งหมดมีความสมบูรณ์ทุกฉบับคิดเป็น  ร้อยละ 100 โดยส่งแบบสอบถามเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555 และได้รับคืนแบบสอบถามเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555
        1.3.4  การวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยได้ทำการประมวลข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยรวมข้อมูลจากแบบสอบถามนำมาวิเคราะห์โดยใช้สถิติหาค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
1.4  สรุปผลการวิจัย ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
        1.4.1  ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุ 11 ปี มีวุฒิการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6
        1.4.2  ผลการวิจัยเกี่ยวกับการใช้เนื้อหาและเทคนิคของหนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนา เมื่อพิจารณารายข้ออยู่ในระดับมาก คือ  
                    1)  การใช้ส่วนนำของหนังสือเรียน ด้านการใช้แผนผังแนวคิดช่วยให้นักเรียนทราบถึงภาพรวมของเนื้อหาทั้งหมดที่จะต้องศึกษา
                    2)  การใช้เนื้อหาสาระของหนังสือเรียน ด้านการใช้ภาษาที่ใช้ช่วยให้นักเรียนอ่านแล้วเข้าใจง่าย
                    3)  การใช้กิจกรรมของหนังสือเรียน ด้านการใช้กิจกรรมนำสู่การเรียนช่วยให้นักเรียนปรับพื้นฐานความรู้ของนักเรียน
                    4)  การใช้ส่วนท้ายของหนังสือเรียน ด้านการใช้หน้าประกาศช่วยให้นักเรียนทราบรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการจัดพิมพ์
                    5)  การใช้เทคนิคของหนังสือเรียน ด้านการใช้กระดาษที่ใช้มีความคงทนต่อการหยิบใช้ของนักเรียน
        1.4.3  ผลการวิจัยเกี่ยวกับการใช้หนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในชั่วโมงเรียนและนอกชั่วโมงเรียน เมื่อพิจารณารายข้ออยู่ในระดับมาก คือ
                    1)  การใช้หนังสือเรียนในชั่วโมงเรียน นักเรียนใช้ประกอบการเรียนในชั่วโมงเรียนตามครูบอก
                    2)  การใช้หนังสือเรียนนอกชั่วโมงเรียน นักเรียนใช้ศึกษาหาความรู้เสริมจากที่เรียนในห้อง
        1.4.4  ผลการวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์จากการใช้หนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนา เมื่อพิจารณารายข้ออยู่ในระดับมาก คือ คุณลักษณะที่พึงประสงค์ นักเรียนสามารถคิดวิจารณ์เรื่องราวต่างๆ ได้ ประโยชน์ต่อการเรียนนักเรียนสามารถทบทวนความรู้ด้วยตนเองได้ตลอดเวลา และการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันนักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้
                   
2.  อภิปรายผล

จากการศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียน วิชาพระพุทธศาสนา สำหรับนักเรียนโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1 ผู้วิจัยนำประเด็นของการศึกษามาอภิปราย ตามความมุ่งหมายของการค้นคว้า ดังนี้
2.1  จากการศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้หนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนา ในด้านการใช้เนื้อหาและเทคนิคของหนังสือเรียน พบว่า การใช้ภาษาช่วยให้นักเรียนอ่านแล้วเข้าใจง่าย อยู่ในระดับมาก เนื่องจาก ภาษาที่ใช้ในหนังสือเรียนมีการเรียบเรียงภาษา เนื้อหา และความคิดเป็นไปลำดับตามความสำคัญจากหัวข้อใหญ่ไปหาหัวข้อย่อย มีการใช้สำนวนภาษาที่เหมาะกับวัยของนักเรียน ช่วยให้ครูผู้สอนสามารถนำมาอธิบายเพิ่มเติมให้นักเรียนเข้าใจในเนื้อหามากขึ้น และช่วยให้นักเรียนอ่านแล้วเข้าใจง่าย สอดคล้องกับ ปรีชา ช้างขวัญยืน (2551 : 18) ที่กล่าวว่า ภาษาที่เรียบเรียงดีแล้ว มีการลำดับเนื้อหาและความคิดที่เป็นระเบียบ และการเขียนประโยคเชื่อมกันให้มีความสัมพันธ์แบบต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องราวเรียบเรียงความคิดซึ่งภาษาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเสมอ
2.2  จากการศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้หนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนา ในด้านการใช้หนังสือเรียนในชั่วโมงเรียนและนอกชั่วโมงเรียน พบว่า การใช้นอกชั่วโมงเรียนนักเรียนใช้ศึกษาหาความรู้เสริมจากที่เรียนในห้อง อยู่ในระดับมาก เนื่องจาก นักเรียนมีการเพื่อเพิ่มความรู้ให้แก่ตนเองเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เป็นการทบทวนความรู้ที่เรียนมา เสริมความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ที่เรียนจากในห้องเรียนและพัฒนาความรู้ให้มากขึ้น สอดคล้องกับ ชัยยงค์  พรหมวงค์ และคณะ (2525: 526) ได้กล่าวว่า การใช้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาเป็นการใช้ร่วมกับสื่ออื่นๆ ใช้เป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์การสอน เป็นสื่อเสริมในการเรียนรู้และประสบการณ์เป็นแหล่งที่ใช้ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมนอกเหนือไปจากครูสอนปกติ
2.3  จากการศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้หนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนา ในด้านประโยชน์จากการใช้หนังสือเรียน พบว่า นักเรียนสามารถคิดวิจารณ์เรื่องราวต่างๆ ได้ อยู่ในระดับมากเนื่องจาก หนังสือเรียนมีเนื้อหาสาระที่เน้นให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ คิดหาเหตุผล คิดวิเคราะห์ และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง เป็นประโยชน์ในการนำไปพิจารณาเรื่องราวต่างที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเองรวมถึงการพัฒนาความรู้ที่มีให้ก้าวหน้าขึ้นสอดคล้องกับ สุรัตน์ นุ่มนนท์ (2539: 43 อ้างถึงใน ศศิธร บัวทอง 2549:49) ที่กล่าวว่า สื่อสิ่งพิมพ์ช่วยให้นักเรียนมีความคิดวิจารณ์เนื้อหาและเรื่องราวต่าง ๆ จากการอ่านและก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มีความเชื่อมั่นในตนเอง
                     
3.  ข้อเสนอแนะ

จากการศึกษาวิจัยความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา สำหรับนักเรียนโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรีเขต 1 พบว่า ควรปรับปรุงการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียน ในประเด็นต่อไปนี้
3.1  ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนำผลการวิจัยไปใช้
        3.1.1  การใช้เนื้อหาและเทคนิคของหนังสือเรียน ในด้านแนวคิดสำคัญช่วยให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาอย่างคร่าวๆ นักเรียนเห็นด้วยมาก เมื่อพิจารณารายข้อพบว่าเห็นด้วยน้อยสุด จึงควรมีการแนะนำให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของแนวคิดสำคัญ ด้วยการอบรมให้มีความรู้เกี่ยวกับความสำคัญและประโยชน์ของแนวคิดสำคัญ เพื่อนักเรียนจะได้เข้าใจเนื้อหาล่วงหน้าอย่างคร่าวๆ และช่วยให้การเรียนดีขึ้น
        3.1.2  การใช้หนังสือเรียนในชั่วโมงเรียนและนอกชั่วโมงเรียน ในด้านการใช้สำหรับความรู้ทั่วไป นักเรียนใช้อ่านเพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ นักเรียนมีการใช้ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อพบว่ามีการใช้น้อยสุด จึงควรมีการอบรมให้ความรู้ วิธีการ กระบวนการ และประโยชน์จากการนำสื่อสิ่งพิมพ์มาอ่านในเวลาว่างจากการเรียนแก่นักเรียน เพื่อให้นักเรียนรู้จักคุณค่าของการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ สามารถพัฒนาตนเองให้มีความรู้มากขึ้น
        3.1.3  ประโยชน์จากการใช้หนังสือเรียน ในด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์ นักเรียนสามารถใช้เป็นบทเรียนคติสอนใจ นักเรียนมีความเห็นด้วยระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อพบว่าเห็นด้วยน้อยสุด จึงควรมีการสำรวจเนื้อหาสาระของสื่อสิ่งพิมพ์ว่า มีคติสอนใจ มากน้อยเพียงใด หากพบว่า มีน้อยเกินไป ก็ควรเพิ่มเติมให้พอเหมาะกับวัยของนักเรียน และควรมีการให้ความรู้ความเข้าใจด้วยการเขียนคำอธิบายเสริมท้ายหน้า และการให้การอบรมเกี่ยวกับการนำคติสอนใจ จากเนื้อหาสาระมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้นักเรียนนำไปเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตที่ดี
3.2  ข้อเสนอแนะสำหรับการทำวิจัยครั้งต่อไป
        3.2.1  ควรมีการวิจัยศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ส่วนนำของหนังสือเรียน เพราะการใช้ส่วนนำถึงจะอยู่ในระดับมากแต่เมื่อเทียบกับการใช้ด้านอื่นๆ ในการใช้เนื้อหาและเทคนิคของหนังสือเรียนแล้วถือว่าน้อยที่สุด จึงควรมีการวิจัยศึกษาในประเด็นความสำคัญ วิธีการใช้ ขั้นตอนการใช้ และประโยชน์จากการใช้ส่วนนำของหนังสือเรียน

        3.2.2  ควรมีการวิจัยศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้หนังสือเรียนสำหรับการเรียนนอกชั่วโมงเรียน เพราะการใช้นอกชั่วโมงเรียนถึงจะอยู่ในระดับมากแต่เมื่อเทียบกับการใช้ในชั่วโมงเรียนแล้วถือว่าน้อยที่สุด จึงควรมีการวิจัยศึกษาในประเด็น การใช้สำหรับความรู้ทั่วไป การใช้เป็นสื่อเสริมเพื่อการศึกษา และการใช้สำหรับการอ้างอิง ครอบคลุมความสำคัญ วิธีการใช้ ขั้นตอนการใช้ และประโยชน์จากการใช้หนังสือเรียนนอกชั่วโมงเรียน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น