บรรลุธรรมในชาตินี้




บันได ๗ ขั้น บรรลุธรรมในชาตินี้

.

.. ดาวน์โหลดได้ที่ : https://docs.google.com/uc… 
(แจกหนังสือธรรมะ )





 





สภาวะญาณ ๑๖ 

(คัดลอกจาก วิทยานิพนธ์ พระมหาประเสริฐ มนฺตเสวี /ประสบการณ์การปฎิบัติธรรม ๗ เดือน

สภาวะญาณ ๑๖ 

ญาณ  คือ ความรู้สึกตัวด้วยปัญญา, หยั่งรู้, กำหนดรู้ ที่ได้มาจากการเจริญวิปัสสนาหรือเจริญสติปัฏฐาน 
ญาณ ๑๖ คือ ลำดับญาณที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงแก่ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาล้วน หรือที่เรียกว่า การเจริญสุทธญาณิกวิปัสสนาตามลำดับ  มี ๑๖ ประการ  ได้แก่  นามรูปปริจเฉทญาณ  ปัจจยปริคคหญาณ  สัมมสนญาณ  อุทยัพพยญาณ  ภังคญาณ  ภยญาณ  อาทีนวญาณ  นิพพิทาญาณ  มุญจิตุกัมยตาญาณ  ปฏิสังขาญาณ  สังขารุเปกขาญาณ  อนุโลมญาณ  โคตรภูญาณ  มรรคญาณ  ผลญาณ  ปัจจเวกขณญาณ
แบ่งออกเป็น  ๓ ระดับ คือ
          ๑.   ญาณระดับต้น  หมายถึง  นามรูปปริจเฉทญาณ  ปัจจยปริคคหญาณ และสัมมสนญาณ
          ๒.  ญาณระดับกลาง  หมายถึง  อุทยัพพยญาณ
          ๓.  ญาณระดับสูง  หมายถึง  ภังคญาณเป็นต้นไป 
 ญาณที่ ๑   นามรูปปริจเฉทญาณ
          นามรูปานํ  ยถาวทสฺสนํ  ทิฏฺฐิวิสุทฺธิ  นาม  ปัญญาที่กำหนดรู้เห็นลักษณะเฉพาะของสภาวธรรมของรูปและนาม ออกจากกันได้ตามความเป็นจริงบางที่เรียกว่า สังขารปริจเฉทบ้าง  นามรูปววัฏฐานบ้าง  กำหนดจนรู้เห็นรูปเห็นนามว่า  เป็นคนละสิ่งคนละส่วน ซึ่งไม่ได้ระคนปนกันจนแยกกันไม่ได้  การรู้จักจำแนกรูปและนาม อันเป็นสิ่งที่ถูกรู้หรือเป็นอารมณ์เครื่องระลึกของสติออกจากจิตผู้รู้  หมายถึง ความรู้จักรูปธรรม-นามธรรมว่า สิ่งที่มีอยู่ที่เป็นของจริง  ก็มีแต่รูปธรรมและนามธรรมเท่านั้น
          เมื่อว่าตามชื่อ  ญาณนี้ปรากฏแต่ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคเท่านั้น   แต่ถ้าเราศึกษาขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อันแสดงถึงวัตถุนานัตตญาณ   โคจรนานัตตญาณ  จริยานานัตตญาณ ภูมินานานัตตญาณ  และธัมมานัตตญาณ 
          เมื่อกล่าวโดยเนื้อหาสาระแล้ว ย่อมมีความเหมือนกันกับการอธิบายในคัมภีร์วิสุทธิมรรค กล่าวคือ อัตตาตัวตนที่แท้จริงไม่มีเลย  เมื่อว่าโดยปรมัตถธรรม (ความจริงแท้) มีแต่เพียงรูปนามเท่านั้น ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานถึงญาณนี้ก็จะเข้าใจแจ่มแจ้งด้วยตนเองว่า อัตตาตัวตนเป็นเพียงสภาวธรรม ไม่ยึดมั่นว่า มีอัตตาตัวตน (เป็นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา) ตามหลักพระพุทธศาสนา ความเห็นเช่นนี้ถือว่า เป็นทิฏฐิวิสุทธิ คือ มีความเห็นที่บริสุทธิ์
          สภาวะของญาณนี้   เป็นญาณ ที่รู้ความเป็นจริงของธรรมชาติทั้งปวงว่า เป็นเพียง รูปกับนาม เท่านั้น   คือ มองเห็นความต่างกันของธรรมชาติ ๒ อย่าง   คือ   เห็นรูปก็เป็นลักษณะธรรมชาติอย่างหนึ่ง  เห็นนามก็เป็นลักษณะธรรมชาติอย่างหนึ่ง  เช่นว่า  เห็นว่า การเคลื่อนไหวก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถจะรับรู้อะไรได้ตัวมันเองไม่สามารถจะรับรู้อารมณ์ได้ เป็นเพียงแต่ธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาแล้ว ก็สลายตัวไป  จัดว่าเป็นรูปธรรม     ส่วนตัวที่เข้าไปรู้ เป็นธรรมชาติที่สามารถจะรับรู้อะไรได้ จัดเป็นนามธรรม   สภาวะที่เห็นความต่างกันของธรรมชาติ ๒ อย่างนี้  คือเห็นว่า รูปก็อย่างหนึ่ง เห็นว่า นามก็อย่างหนึ่ง    อย่างนี้เรียกว่า สามารถแยกรูปแยกนามได้ เห็นรูปเห็นนามต่างกัน    ไม่ว่าจะเป็นทวารอื่นก็ตาม ขณะที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง มากระทบกาย มีสติรู้ทัน ก็เห็นว่า เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง นั้นก็เป็นแต่ธรรมชาติที่มากระทบแล้วก็สลายไป  ไม่สามารถจะรับรู้อะไรได้   ส่วนตัวจิตใจเป็นตัวที่เข้าไปรู้ได้ เป็นธรรมชาติ ชนิดหนึ่ง เป็นนามธรรม   หรือลมหายใจที่เข้าออก กระทบโพรงจมูก หายใจเข้าเย็น หายใจออกร้อน เป็นตัวที่ไม่สามารถจะไปรับรู้ อะไรได้ มีหน้าที่กระทบแล้วก็สลายไป เป็นรูปธรรม     ส่วนตัวจิตที่เข้าไปรับรู้ลมหายใจ สามารถที่จะรับรู้ อะไรได้ ก็ไปรับรู้ลมหายใจ เป็นนามธรรม  เห็นลมหายใจเป็นเพียงสภาวะอย่างหนึ่ง  เห็นจิตที่เข้าไปรู้ลมหายใจก็เป็นสภาวะอีกอย่างหนึ่ง   อย่างนี้ก็เรียกว่า มีปัญญาแยกสภาวะรูปนามได้    ก็จะทำให้เข้าใจว่า  ในชีวิตนี้มันไม่มีอะไร ในเนื้อแท้จริงๆ แล้วมีแต่รูปกับนามเกิดขึ้นเท่านั้น  ปราศจากความเป็นสัตว์เป็นบุคคล ในขณะที่จิตไปสัมผัสรูปนามนั้น  ก็ไม่มีสัตว์บุคคล ตัวตนอะไรต่ออะไร  เมื่อผู้ปฏิบัติทำความเพียรต่อไป เจริญสติกำหนดรูปนามยิ่งขึ้นไป ก็จะขึ้นถึงญาณที่ ๒
          ญาณที่ ๒  ปัจจยปริคคหญาณ  
              บางที่เรียกว่า  ธัมมัฏฐิติญาณ บ้าง  ยถาภูตญาณ บ้าง สัมมาทัสสนะ บ้าง และผู้ประกอบด้วยญาณขั้นนี้  พระอรรถกถาจารย์เรียกว่าเป็น  จูฬโสดาบันคือ  พระโสดาบันน้อยเป็นผู้มีคติ  คือ  ทางไปก้าวหน้าที่แน่นอนในพระพุทธศาสนา
                    เมื่อว่าตามชื่อ  ญาณนี้ปรากฏแต่ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค  แต่ถ้าศึกษาคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เราก็จะพบว่า เนื้อหาสาระของญาณนี้ตรงกับธัมมัฏฐิตญาณ
(ญาณในการกำหนดที่ตั้งแห่งธรรม)ที่ท่านพระสารีบุตรได้นำปฏิจจสมุปบาทมาจำแนกไว้  ผู้ปฏิบัติตามถึงญาณนี้จะทราบถึงสรรพสิ่งล้วนเกิดมาตามเหตุปัจจัยตามหลักปฏิจจสมุปบาท สำหรับผู้ปฏิบัติที่เคยนับถือในพระผู้สร้างโลก (God) เมื่อปฏิบัติมาถึงญาณนี้ ก็จะปฏิเสธเรื่องนี้โดยสิ้นเชิง
          สภาวะของญาณนี้  คือ  เห็นเหตุปัจจัยของรูป-นาม   คือจะเห็นว่า  รูป- นามนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน  มีความเกี่ยวข้องเป็นปัจจัยกัน  เช่น ขณะที่การก้าวไปๆ การคู้ การเหยียด การเคลื่อนไหวต่างๆ เป็นไปเพราะว่ามีธรรมชาติอย่างหนึ่งเป็นตัวเหตุปัจจัย คือมีจิต  จิตปรารถนาจะให้ กายเคลื่อนไหว กายก็เคลื่อนไหวไป   จิตปรารถนาจะยืน กายก็ยืน  จิตปรารถนาจะเดิน กายก็เดิน จิตปรารถนาจะนอน กายก็นอน  คือ ลมก็ไปผลักดันให้กายนั้นเป็นไป อย่างนี้เรียกว่า นามเป็นปัจจัย ให้เกิดรูป   นามคือจิตใจเป็นปัจจัยให้เกิดรูป   รูปที่ก้าวไป รูปที่เคลื่อนไหว เกิดขึ้นมาได้เพราะว่าจิตเป็นปัจจัย    ส่วนรูปบางอย่าง รูปเป็นปัจจัยให้เกิดนาม  เช่นเสียง เสียงมีมากระทบประสาทหู เสียงเป็นรูป  เมื่อกระทบประสาทหู  ซึ่งเป็นรูปด้วยกัน ก็เกิดการได้ยินขึ้น  เกิดการรับรู้ทางหูขึ้น ก็จะมองเห็นว่ามันเป็นเหตุปัจจัยกัน   เสียงมากระทบจึงเกิดการได้ยินขึ้น   เรียกว่ารูปเป็นปัจจัยให้เกิดนาม  เย็นร้อน อ่อนแข็ง อ่อนตึง เป็นรูป   มากระทบกาย ก็เกิดการรับรู้ซึ่งเป็นนามเกิดขึ้น     เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมมีความเพียร ดูรูปนาม  เห็นความเกิดดับ เห็นความเป็นเหตุเป็นปัจจัยของรูปนามอยู่เสมอก็จะก้าวขึ้นสู่ญาณที่ ๓
          ผู้ประกอบด้วยญาณนี้ ชื่อว่า จูฬโสดาบัน   ดังคัมภีร์วิสุทธิมรรคกล่าวไว้ว่า    อิมินา   ปน  (ปจฺจยปริคฺคห)ญาเณน    สมนฺนาคโต     วิปสฺสโก     พุทฺธสาสเน      ลทฺธสฺสาโส     ลทฺธปติฎฺโฐ     นิยตคติโก   จูฬโสดาปนฺโน    นาม  โหติ
          คัมภีร์วิสุทธิมรรคมหาฎีกา อธิบายอีกว่า   อปริหีนกงฺขาวิตรณวิสุทฺธิโก   วิปสฺสโก   โลกิยาหี  สีลสมาธิปญฺญาสมฺปทาหิ   สมนฺนาคตตฺตา   อุตฺตริ   อปฺปฏิวิชฺฌนฺโต   สุคติปรายโน  โหตีติ  วุตฺตํ  นิยตคติโกติ   ตโต  เอว   จูฬโสตาปนฺโน   นาม  โหติ
          ผู้เจริญวิปัสสนา ที่กำลังก้าวหน้าในกังขาวิตรณวิสุทธิ  เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลสมาธิปัญญาที่ บริสุทธิ์แล้ว  แต่ยังไม่ถึงขึ้นหลุดพ้น(เพราะเป็นโลกิยะ)  ถึงแม้จะยังไม่บรรลุคุณธรรมพิเศษยิ่งๆ ขึ้นไปก็ตาม แต่ก็เป็นผู้มีสุคติภพเป็นที่ไปในเบื้องหน้า   ดังนั้น  ท่านจึงกล่าวว่า  นิยตคติโก (เป็นผู้มีคติภพที่แน่นอน)และด้วยเหตุที่เป็นผู้มีคติภพที่แน่นอนนี้  จึงไต้ชื่อว่า  เป็นพระจูฬโสดาบัน
๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ  ความหมดจดแห่งญาณ  ความบริสุทธิ์แห่งปัญญา  เป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย  ได้แก่  ความบริสุทธิ์เพราะหายสงสัย  (เกี่ยวกับกาลทั้ง ๓  คือ อดีต  อนาคต  และปัจจุบัน)  คือ ขณะที่พิจารณาอยู่พบเพียงเหตุและผล  ที่ล่วงมาแล้วก็เพียงเหตุและผล  ต่อไปก็มีเพียงเหตุและผลเท่านั้น ความรู้นี้กำหนดเป็นขั้นตีรณปริญญา คือ   รู้สามัญญลักษณะของไตรลักษณ์
          กังขาวิตรณวิสุทธิ หมดความสงสัยได้เพราะเมื่อกำหนดนาม-รูปจนเข้าใจมากขึ้นแล้ว ก็จะรู้ว่านาม-รูปเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุปัจจัย (ปัจจยปริคหญาณ) คือ รูปอันใดเกิดขึ้น (อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน) ก็รู้ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุใด (เพราะมีจิตเป็นตัวรู้และสั่งงาน) นามอันใดเกิดขึ้น (ความคิด ความรู้สึก ชอบ หรือชัง) ก็รู้ว่าเกิดขึ้นด้วยเหตุอะไร (เพราะมีการกระทบอารมณ์ตามทวารทั้ง ๖ เป็นต้น) ไม่เกี่ยวกับการสร้างหรือการดลบันดาลให้เกิดขึ้น สามารถตัดสินได้ว่าแม้ชาติก่อนตนก็เกิดด้วยเหตุปัจจัย   ปัจจุบันก็เกิดมาได้ด้วยเหตุ ปัจจัย
 ญาณที่ ๓  สัมมสนญาณ 
          ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นไตรลักษณ์ คือ ความเกิดดับของรูปนาม แต่ที่รู้ว่ารูปนามดับไปก็เพราะ เห็นรูปนามใหม่เกิดสืบต่อแทนขึ้นมาแล้ว  เห็นอย่างนี้เรียกว่า     สันตติยังไม่ขาดและยังอาศัยจินตามยปัญญาอยู่ อีกนัยหนึ่งว่า สัมมสนญาณ เป็นญาณที่ยกรูปนามขึ้นสู่ไตรลักษณ์      รู้ว่ารูปนามทั้งปวงนั้นปรากฏเป็นคราวๆ เมื่อถูกรู้ และรูปนามทั้งปวงนั้นล้วนหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ตกอยู่ใต้กฎของไตรลักษณ์       
          เมื่อว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏทั้งในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๕)  และคัมภีร์วิสุทธิมรรค    สาระสำคัญของญาณนี้ คือ  ผู้ปฏิบัติรู้ว่า รูปนามดับไป และเห็นรูปนามใหม่เกิดขึ้นสืบต่อกันไป แต่สันตติ(ความสืบต่อ)ยังไม่ขาด  เพราะเป็นเพียงความรู้ด้วยจินตาญาณ(ความนึก พิจารณา)หลักฐานในคัมภีร์สัทธัมมปกาสินี :   อิทานิ  ยสฺมา
  เหฏฺฐา  สรูเปน  นามรูปววตฺถานญาณํ  น  วุตฺตํตสฺมา  ปญฺจธา  นามรูปปฺเภทํ  ทสฺเสตุ  อชฺฌตฺตววตฺถาเน  ปญฺญาวตฺถุนานตฺเต  ญาณนฺติอาทีนิ  ปญฺจ ญาณานิ  อุทฺทิฏฺฐานิ
ปัญญาญาณที่ประจักษ์แจ้งการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของนามธรรมและรูปธรรม แยกออกเป็น ๔ นัย คือ     
          ๑) กลาปสัมมสนนัย เห็นชัดถึงรูปอดีต ปัจจุบัน อนาคต รูปภายใน-นอก รูปหยาบ-ละเอียด รูปใกล้-ไกล รูปเลว-ประณีต ทั้งหมดเป็นอนิจจังสิ้นไปถ่ายเดียวไม่มีกลับ          
          ๒) อัทธานสัมมสนนัย เห็นรูปนามในอดีตไม่เป็นปัจจุบัน รูปนามปัจจุบันไม่เป็นอนาคต รูปภายในไม่เป็นรูปภายนอก ฯลฯ เป็นต้น มีเหตุปัจจัยกันอยู่ ปัจจุบันดี อนาคตดี ปัจจุบันชั่ว อนาคตชั่ว อุปมาเหมือนดวงตราเมื่อประทับลงในกระดาษนั้นรูปตราปรากฏอยู่ แต่ดวงตราหาติดกระดาษไม่   
          ๓) สันตติสัมมสนนัย พิจารณาเห็นรูปร้อนหายไปรูปเย็นเกิด รูปเย็น-ดับรูปร้อนเกิด รูปนามไม่เที่ยงเป็นอนัตตา    
          ๔) ขณสัมมสนนัย เห็นความเกิดดับกันอยู่เรื่อยไป ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่งนอน และเห็นว่า ขันธ์ ๕ เกิด เพราะ อวิชชาเกิด ขันธ์ ๕ ดับ เพราะอวิชชาดับ      
          ตั้งแต่ญาณ ๑ ถึงญาณ ๓ นี้เรียกว่า “ญาตปริญญา” คือ   ปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏโดยสภาพไม่ใช่ตัวตน เป็นพื้นฐานให้น้อมพิจารณา ลักษณะของรูปนามอื่นเพิ่มขึ้น
          สภาวะของญาณนี้ :  เป็นญาณที่เห็นไตรลักษณ์ คือ เห็นอนิจจัง ความ ไม่เที่ยงของรูป-นาม เห็นทุกขัง  คือ ความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ของรูป-นาม    เห็นอนัตตา ความบังคับบัญชา ไม่ได้ของรูปนาม   แต่ว่าการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในญาณที่ ๓  นี้  ยังเอาสมมุติบัญญัติมาปน  ยังมีสุตมยปัญญา (ปัญญาที่เกิดจากการได้ฟัง)  มาเอาจินตามยปัญญา (ความตรึกนึกคิด)มาปนอยู่ด้วย ยังไม่บริสุทธิ์ในความเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา   ก็ทำให้รู้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่ยังมีสมมุติบัญญัติ  มีปัญญาที่ได้จากการได้ฟัง   จากการคิดพิจารณาขึ้นมา ก็เกิดเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาขึ้น เมื่อผู้ปฏิบัติ ได้ทำความเพียร กำหนดดูรูปนามเรื่อยไปก็จะก้าวขึ้นสู่ญาณที่ ๔
ญาณที่ ๔   ตรุณอุทยัพพยญาณ   ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นไตรลักษณ์ชัดเจน โดยสันตติขาด คือ เห็นรูปนามดับไปในทันทีที่ดับ และเห็นรูปนามเกิดขึ้นในขณะที่เกิด หมายความว่า เห็นทันทั้งในขณะที่เกิดและขณะที่ดับ อุทยัพพยญาณนี้ยังจำแนกได้เป็น ๒ คือ ตรุณอุทยัพพยญาณ เป็นญาณที่ยังอ่อนอยู่ และพลวอุทยัพพยญาณ เป็นญาณที่แก่กล้าแล้ว    รู้ว่ารูปนาม และปฏิกิริยาของจิตต่อรูปนามที่จิตไปรู้เข้า ล้วนแต่เกิดดับต่อเนื่องกันไป
เมื่อว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏทั้งในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๖) และคัมภีร์วิสุทธิมรรค   สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ ญาณนี้แบ่งออกเป็น ๒ ช่วง   ญาณช่วงที่ ๑ เป็นญาณระดับอ่อน (ตรุณะ)  ช่วงที่ ๒ เป็นญาณระดับแก่ (พลวะ)  ในระดับอ่อนผู้ปฏิบัติกำหนดรู้สภาวะต่าง ๆ ของรูปนามแล้วเห็นชัดว่าสภาวะดับหายไปเร็วขึ้นกว่าเดิม  แม้แต่เวทนาที่เกิดขึ้น เมื่อกำหนดไปก็หายเร็วขึ้น  สภาวะจิตก็เป็นสมาธิที่ดี  ในญาณระดับนี้  ผู้ปฏิบัติมักจะเห็นสภาวะที่แปลก ๆ  มีภาพปรากฏให้เห็น มีแสงสว่างเข้ามาปรากฏอยู่บ่อย ๆ (โอภาส)  เนื่องจากผู้ปฏิบัติไม่เคยเห็นแสงสว่างเช่นนี้มาก่อน ก็อาจจะเอาใจใส่ดู หรืออาจจะเข้าใจผิดว่า ตนเองได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ก็เป็นได้   ภาวะเช่นนี้ เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส ซึ่งเป็นเหตุให้วิปัสสนาเศร้าหมอง
ญาณระดับนี้ การมีกัลยาณมิตรที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ปฏิบัติมาก   เพราะถ้าผู้ปฏิบัติเข้าใจผิดพลาด(ไม่มีผู้ชี้ทางให้ ) อาจคิดว่าตนเองได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน  ก็จะพลาดโอกาสที่จะได้ผลการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานในระดับสูงต่อไป    การปฏิบัติในขั้นนี้ จะเป็นเครื่องทดสอบว่าผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติถูกหรือไม่    ในความเป็นจริง ผู้ปฏิบัติในขั้นนี้ยังไม่สามารถกำหนดให้เห็นไตรลักษณ์ได้แจ่มแจ้ง เพราะจิตมักจะถูกวิปัสสนูปกิเลสเข้าครอบงำอยู่เสมอ เมื่อผู้ปฏิบัติได้กัลยาณมิตรก็จะสามารถฟันฝ่าเอาชนะวิปัสสนูปกิเลสได้ ทำให้การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานดำเนินต่อไปได้ ครั้นปฏิบัติมาถึงญาณระดับอุทยัพพยญาณอย่างแก่ (พลวะ)  ผู้ปฏิบัติจึงจะสามารถกำหนดรูปนามเห็นไตรลักษณ์ตามความเป็นจริง    ญาณนี้เมื่อสมาธิมากขึ้น นึกอยากจะเห็นอะไรก็เห็นหมด จะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นย่อมจะเป็นนิมิตมาให้เห็นได้ทั้งนั้น ฉะนั้นต้องระวังให้มากอย่าอยากเห็นเป็นอันขาด เพราะจะทำให้วิปัสสนารั่วและจะเสียปัจจุบันธรรม ทางนั้นเป็นสมถะไม่ใช่วิปัสสนา
          ในขณะที่ญาณนี้ยังอ่อน คือตรุณอุทยัพพย ญาณนี้ก็จะทำให้เกิดวิปัสสนูปกิเลสขึ้น ที่จะทำให้วิปัสสนาเศร้าหมอง  วิปัสสนูปกิเลส คือกิเลสที่จะทำให้ วิปัสสนาเศร้าหมอง คือทำให้วิปัสสนาไม่เจริญขึ้นจะไม่ก้าวหน้า จะหยุดชะงัก  ทำให้ผู้ปฏิบัตินั้นหลงติดอยู่ในวิปํสสนูปกิเลสเหล่านั้น  วิปัสสนาก็ไม่เจริญขึ้น ทำวิปัสสนากรรมฐานไม่ก้าวหน้า อยู่แค่นั้น    เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติจะต้องทำความเข้าใจว่า เมื่อถึงขณะนั้นแล้ว มันจะเกิดวิปัสสนูปกิเลสขึ้นอย่างใดอย่าง หนึ่ง  ก็ให้รู้ทันวิปัสสนูปกิเลสนี้ ที่จริงมันก็เป็นธรรมฝ่ายดี เช่น  ปิติ  ความสุข ความสงบ เป็นธรรมฝ่ายดี   แต่มันเสียตรงที่ว่า เกิดความไปยินดี พอใจ ติดใจในสิ่งเหล่านั้น เรียกว่ามี นิกันติ (ความไปพอใจ) วิปัสสนาญาณก็ไม่เจริญ 
          วิปัสสนูปกิเลส ที่เกิดมี ๑๐ ประการนั้น


           ๑. โอภาส  แสงสว่าง เกิดความสว่างขึ้นในใจ จิตใจของบุคคลนั้น จะรู้สึกเกิดความพอใจ กับสิ่งอัศจรรย์ในใจ ที่มันปรากฏขึ้น มีความสว่างในจิตในใจขึ้น มีเหมือนเป็นแสงสว่างอยู่ทั่วตัว เกิดความยินดี พอใจ เมื่อเกิดความ ยินดี พอใจ รูปนามก็มองไม่เห็น ไม่เห็น รูปนาม เพราะมัวติดอยู่กับแสงสว่างเหล่านั้น เรียกว่ามี นิกันติ
          ๒.  ญาณะ  ความรู้ เกิดความรู้แก่กล้าขึ้น มีความรู้สึกว่าตัวเองนั้นรู้อะไรทะลุปรุโปร่งไปหมด จะคิด จะนึก จะพิจารณาอะไร มันเข้าใจไปหมด ก็เกิดความพอใจยินดีติดใจในความรู้ของตนที่เกิดขึ้น วิปัสสนาญาณก็ไม่เจริญก้าวหน้า
           ๓.  ปีติ  ความอิ่มเอิบใจ จะมีความอิ่มเอิบใจอย่างมาก อย่างแรงกล้า จิตใจมีความปลื้มอกปลื้มใจ  ปิติ อิ่มเอิบ อย่างมาก แล้วก็เกิดความยินดีพอใจ ในปีติเหล่านี้ วิปัสสนาก็ไม่เจริญ
           ๔.  ปัสสัทธิ  ความสงบอย่างแรงกล้า  จิตใจมีความสงบอย่างมาก มีความนิ่ง ความสงบ ลงไปอย่างมาก แล้วก็เกิดความพอใจ เกิดความยินดี พอใจในความสงบ ที่จริงความสงบมันเป็นเรื่องดี แต่มันไปเสียที่เกิดความยินดีพอใจ ตัวความ ยินดี พอใจ เป็นโลภะ มักจะเกิดขึ้น ถ้ารู้ไม่ทัน
           ๕.  สุขะ  ความสุขอย่างแก่กล้า  คือ ความสบายใจ ใจเย็นสบายมาก แล้วก็เกิดนิกันติ คือความพอใจใน ความสบาย เป็นโลภะเช่นกัน วิปัสสนาญาณก็เจริญไม่ได้
           ๖.  อธิโมกข์  ตัดสินใจเชื่อ  เกิดความเชื่อลงไปอย่างมากเชื่อถือลงไป แล้วก็ติดใจในความเชื่อถือเหล่านั้น ไม่เห็นรูปนาม อีกเหมือนกัน
           ๗.  เกิดปัคคหะ  ความเพียรอย่างแรงกล้า   ผู้ปฏิบัติจะเกิดความเพียรอย่างมาก เพราะทำให้ไม่มีความพอดี ก็ไม่เห็นรูปนามต่อไป เพราะเกิดความติดใจในความเพียรนั้น
           ๘.  อุปัฏฐานะ  เกิดสติแก่กล้า มีความรู้สึกว่าสตินี้คล่องว่องไวเหลือเกิน ที่จะกำหนดรู้สภาวธรรมต่างๆ อารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบในส่วนต่างๆ จุดต่างๆ สติมีความรับรู้ว่องไวมาก แล้วก็เกิดความพอใจในสติที่มีสติระลึกรู้ได้เท่าทัน ที่จริงสติเป็นเรื่องดี เป็นสิ่งที่ควรเจริญ ให้เกิดขึ้น แต่มันไปเสียตรงที่มีนิกันติ คือมีความยินดีพอใจในสติที่เกิดขึ้น วิปัสสนาก็ก้าวไปไม่ได้
           ๙.  อุเบกขา  ความเฉย ๆ  จิตใจมีความเฉยมาก ไม่รู้สึกดีใจเสียใจ ใจมีความเฉย แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดนิกันติ พอใจในความเฉยได้ สังเกตได้ยาก มันเฉยแล้วพอใจในความเฉย ไม่โลดโผน วิปัสสนาก็เจริญไม่ได้
          ๑๐.  นิกันติ   ความยินดีติดใจ เป็นตัวสำคัญที่ทำให้วิปัสสนาญาณไม่เจริญ ฉะนั้น ก็เป็นที่เข้าใจว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ที่จริงเป็นเรื่องดี ปิติก็ดี ความสุขก็ดี ความสงบก็ดี ความรู้สติก็ดี มันเป็นเรื่องดีเกิดขึ้นมา แต่ว่ามันเสียตรงที่มีนิกันติ คือความเข้าไปยินดีติดใจ ทำให้การเจริญวิปัสสนานั้น ไม่ก้าวหน้า ไปติดอยู่แค่นั้น
 วิธีที่จะผ่านวิปัสสนูปกิเลสเหล่านี้ไป จะทำอย่างไร?    ผู้ปฏิบัติก็ต้องมีความแยบคายในการพิจารณาถึงลักษณะความยินดีพอใจที่เกิดขึ้น  สังเกตให้ออกว่าขณะนี้เกิดความพอใจ  เช่น เกิดความสงบ มีความรู้สึก  พอใจในความสงบอยู่  ก็ให้รู้ทันว่า นี่ลักษณะของความพอใจ เกิดปีติ และเกิดความพอใจในปีติ  ก็รู้ว่า นี่พอใจ ๆ เกิดสติ เกิดปัญญา แล้วพอใจ ก็รู้เท่าทันความพอใจ  ถ้าเกิดการที่เข้าไปรู้เท่าทันลักษณะของความพอใจได้ ความพอใจนั้นก็จะหลบหน้าไป  ก็กลับเป็นปกติขึ้น ก็จะก้าวขึ้นสู่อุทัพพยญาณอย่างแก่ คือ ญาณที่ ๔ อย่างแก่
๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ  ความเห็นอันบริสุทธิ์  ที่เกิดรู้เห็นว่าเป็นทางหรือมิใช่ทาง คือ  สามารถตัดสินใจได้ว่า  การยินดีในแสงสว่างนั้น  ย่อมเป็นทางผิด  เพียงแต่กำหนดเท่านั้นจึงจะเป็นทางถูก  ญาณจึงจะแจ่มชัดขึ้นอีก
ญาณที่ ๔   พลวอุทยัพพยญาณ  
อุทยัพพยญาณอย่างแก่  ญาณที่เห็นรูปนามอย่างชัดแจ้งทุกขณะกำหนด  ซึ่งผู้ปฏิบัติจะพ้นไปจากอำนาจของวิปัสสนูปกิเลส  อารมณ์จะแจ่มใสประกอบด้วยวิปัสสนาญาณที่บริสุทธิ์ผุดผ่องสามารถกำหนดรูป นาม ที่เกิดดับได้อย่างรวดเร็ว โดยปราศจากการคำนึงถึงแสงสว่างเป็นต้นนั้น   ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดดับของรูปนาม  มีความบริสุทธิ์ของการเห็น เห็นรูปเกิดขึ้น ดับไป เกิดขึ้น ดับไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ กำหนดไป ตรงไหน เห็นแต่ความเกิดดับไปหมด เสียงดังมากระทบหูได้ยิน กำหนดรู้ก็เห็นมันเกิดดับไปเลย ใจที่คิดนึก กำหนดรู้เห็น ความเกิดดับไป เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง มากระทบกำหนดรู้ถึงความเกิดดับไปทันที ไม่ว่าจะอารมณ์ส่วนไหนก็ตามที่ปรากฏอยู่ เห็นความเกิดขึ้นดับไปอย่างรวดเร็ว นี่เป็นญาณที่ ๔    จากนั้น  ถ้าผู้ปฏิบัติทำความเพียรต่อไปไม่ลดละ เพ่งดูรูป-นามที่เกิดดับ เกิดดับ อยู่อย่างนั้นเรื่อยไป ก็จะขึ้นสู่ญาณที่ ๕
          ๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ   ปัญญาที่เข้าถึงความรู้สึกในทางที่ถูก ตรงสู่พระนิพพานโดยถูกต้องแล้ว หมายถึง อารมณ์อันเป็นปฏิปทาที่ถูกต้อง ตัณหาแลทิฎฐิไม่สามารถเข้าไปในอารมณ์นั้นได้  อารมณ์ของวิปัสสนา คือ ไตรลักษณ์ในนาม-รูป เป็นตัวถูกรู้   ส่วนปัญญาเป็นตัวรู้อารมณ์ไตรลักษณ์นั้น ความรู้เช่นนี้เป็นปัจจัยแก่วิปัสสนาญาณเบื้องสูงต่อเนื่องไปถึงโคตรภูญาณ
           วิปัสสนาปัญญาตั้งแต่อุทยัพพยญาณที่ปราศจากวิปัสสนูปกิเลสจนถึงโคตรภูญาณจัดเข้าอยู่ในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ดังนั้น วิสุทธิขั้นนี้จึงประกอบด้วยวิปัสสนาญาณลักษณะต่าง ๆ รวม ๑๐ ญาณ ได้แก่ อุทยัพพยญาณที่ปราศจาก วิปัสสนูปกิเลส  ภังคญาณ  ภยญาน อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมมยตาญาณ  ปฏิสังขาญาณ  สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ และโคตรภูญาณ
ญาณที่ ๕  ภังคญาณ
          ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งความไม่มีสาระของการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่ปรากฏเป็น “ปหานปริญญา” คือ ปัญญาที่รอบรู้เพิ่มขึ้นละคลายความยินดีในนามรูป เห็นโทษของนามรูปเพิ่มขึ้น ละวิปลาสเสียได้ คือ ละความเห็นว่าเที่ยง ว่าสุข ว่าเป็นตัวตน ว่าสวย ว่างาม
สภาวะของญาณนี้ ในภังคญาณนี้ ผู้ปฏิบัติจะเห็นแต่ฝ่ายดับ คือ เห็นรูป-นามนั้นดับไป ดับไป อย่างรวดเร็ว เพราะรูป-นามเกิดดับรวดเร็วถี่มาก   เมื่อญาณแก่กล้า  ความรู้สติปัญญาแก่กล้า เข้าไปทันกับรูป-นามที่ดับเร็ว มันก็เลยเห็นแต่ดับ ๆ ๆ ๆ เห็นแต่ฝ่ายดับไป ดับไป ท่านอุปมาเหมือนยืนอยู่ ในตรอก  มองไปปากตรอก ปากตรอกนั้นเห็นรถวิ่งผ่านแว่บ ผ่านไปๆ ๆ ๆ เห็นแต่ฝ่ายดับๆ ๆ ๆ ไป นี่เป็นญาณที่ ๕  เมื่อมีความเพียร ไม่ท้อถอย กำหนดดูไปเรื่อยๆ เห็นรูปนามเกิดดับ ดับไป ดับไป ดับไป ก็จะก้าวขึ้นสู่ญาณที่ ๖
          ญาณที่ ๖ ภยตูปัฏฐานญาณ     
          ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่ารูปนามนี้เป็นภัย  เป็นที่น่ากลัว  เหมือนคนกลัวสัตว์ร้าย เช่น เสือ เป็นต้น   ผู้ปฏิบัติจะเห็นว่า ภพชาติทั้งปวง อันหมายถึงการที่จิตเข้าไปอิงอาศัยอารมณ์ต่างๆ นั้น เป็นของไม่ปลอดภัย เนื่องจากอารมณ์ทั้งปวงล้วนแต่เกิดดับ
 ว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏทั้งในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๘) และคัมภีร์วิสุทธิมรรค สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ ผู้ปฏิบัติมักเห็น(ภาพนิมิต)สภาพของร่างกายที่มีแต่เพียงกระดูกขาวโพลน กระบอกตากลวงโบ๋  น่าเกลียดน่ากลัวยิ่งนักจนเกิดความรู้สึกว่า ไม่อยากได้รูปนามอีกต่อไป เพราะถ้าได้มาอีก รูปนามก็จะตกอยู่ในสภาพเช่นนี้อยู่ต่อไป
          สภาวะของญาณนี้  :  เมื่อถึงญาณนี้  ผู้ปฏิบัติจะเห็นรูป-นามที่มันดับไปอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง  จนเกิดความรู้สึกขึ้นในใจว่า เป็นภัยเสียแล้ว เห็นว่ามันเป็นภัย     ก่อนนั้นเคยหลงใหล แต่ตอนนี้รู้สึกว่าเป็นภัย  คือรูป-นามที่ประกอบเป็นชีวิต เป็นอัตภาพ เป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งดูไปแล้วเป็นแต่รูป-นาม  มันจะเห็นว่าก็มันดับอยู่อย่างนี้   มันย่อยยับต่อหน้าต่อตา  ไม่ว่าส่วนไหนมันก็ดับไปหมด สิ่งที่ปรากฏให้รู้ดับไป  ตัวที่รู้ดับไป  ตัวผู้รู้ดับไป  มันมีแต่ความ ดับไป  ดับไป  มันรู้สึกว่าเป็นภัย เป็นภัยเสียแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่น่าอภิรมย์เสียแล้วในชีวิตนี้ เป็นภัย
 ญาณที่ ๗  อาทีนวญาณ     
          ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่ารูปนามนี้เป็นโทษ เหมือนผู้ที่เห็นไฟกำลังไหม้เรือนตนอยู่ จึงคิดหนีจากเรือนนั้น  ในระหว่างที่อิงอาศัยอารมณ์นั้น จิตไม่ได้มีความสุขจริง เพราะภพชาติทั้งปวงล้วนแต่มีทุกข์มีโทษในตัวเอง
เมื่อว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏทั้งในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๘) และคัมภีร์วิสุทธิมรรค สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ ผู้ปฏิบัติจะเห็น(ภาพนิมิต) ร่างกายที่ค่อย ๆ พองขึ้นอืดที่บริเวณท้อง ลำตัว แขน หลังมือ หลังเท้า เป็นต้นสักระยะหนึ่งอาการพองอืดก็จะค่อย ๆ ยุบลงตามปกติ
สภาวะของญาณนี้ :  ผู้ปฏิบัติจะเกิดความรู้สึกว่า นาม-รูปนี้เป็นโทษ ในขณะที่เห็นรูปนามดับไป ดับไป เกิดความ รู้สึกว่าเป็นโทษ นอกจากจะเห็นภัยแล้ว ยังรู้สึกว่าเป็นโทษอี
ญาณที่ ๘  นิพพิทาญาณ    
          ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่า เกิดเบื่อหน่ายในรูปนาม เบื่อหน่ายในปัญจขันธ์   จิตคลายความเพลิดเพลินพึงพอใจในภพชาติต่างๆ
          ว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏทั้งในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๘) และคัมภีร์วิสุทธิมรรค   สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกเบื่อหน่ายต่อรูปนาม เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ล้วน ๆ มิใช่เกิดขึ้นเพราะนึกคิดเอาเอง
          สภาวะของญาณนี้  :   นิพพิทาญาณนี้จะรู้สึกเบื่อหน่าย ในเมื่อเห็นรูป-นาม เป็นภัย เป็นโทษ มันก็รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่ได้ติดใจเลยในรูปนามนี้ มันน่าเบื่อจริงๆ   แต่ก็ไม่หนี ไม่ท้อถอย ก็ยังคงดูต่อไป   แต่บางคนก็อาจจะเลิกรา  เบื่อมาก ๆ เข้า เมื่อเพียรพยายามต่อไปก็จะขึ้นญาณที่ ๙
 ญาณที่ ๙  มุญจิตุกัมยตาญาณ    
          ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่าใคร่จะหนีจากรูปนาม ใคร่จะพ้นจากปัญจขันธ์ เปรียบดังปลาเป็น ๆ ที่ใคร่จะพ้นจากที่ดอนที่แห้ง   จิตพยายามดิ้นรนแสวงหาทางออกจากภพ หรือการตกอยู่ใต้อำนาจของอารมณ์ต่างๆ
          ว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏทั้งในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๙) และคัมภีร์วิสุทธิมรรค   สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ  ผู้ปฏิบัติจะอยากหลุดพ้นจากรูป-นาม
    บางครั้ง ผู้ปฏิบัติเกิดอาการคันอย่างรุนแรง บางครั้งก็เกิดทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า จนอยากหนีไปให้พ้นจากรูปนาม แต่ก็ไม่ได้หนีไปไหน ยังคงเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปอีก
 สภาวะของญาณนี้  :  มีความรู้สึกใคร่จะหนีให้พ้น เมื่อมันเบื่อแล้วก็ใคร่จะหนี มีความรู้สึกอยากจะหนีไป เหมือนบุคคลที่อยู่ใน กองเพลิง มันก็อยากจะไปให้พ้นจากกองเพลิงเหล่านี้ จากนั้นเมื่อเพียรพยายามต่อไปก็จะขึ้นญาณที่ ๑๐
 ญาณที่ ๑๐  ปฏิสังขาญาณ    
ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นเพื่อหาทางที่จะหนี หาอุบายที่จะเปลื้องตนให้พ้นจากปัญจขันธ์   จิตพบว่าหนีจากอารมณ์หรือภพไม่ได้ เพราะมันไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเรา จึงจำเป็นต้องอยู่กับมัน        
          เมื่อว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏทั้งในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๙) และคัมภีร์วิสุทธิมรรค สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ ผู้ปฏิบัติได้เห็นไตรลักษณ์ชัดเจนที่สุดกว่าทุกญาณที่ผ่านมา การหยั่งรู้ไตรลักษณ์ มีประโยชน์มาก เพื่อจะได้ยกจิตขึ้นสู่ไตรลักษณ์ต่อไป
          สภาวะของญาณนี้ :  ในปฏิสังขาญาณนี้มันจะหาทางว่าทำอย่างไร ถึงจะพ้นได้ ในเมื่อตอนแรกมันใคร่จะหนี พอถึงญาณอันนี้ ก็หาทาง ที่จะหลุดพ้นให้ได้ เมื่อเพียรพยายามต่อไป ก็จะขึ้นถึงญาณที่ ๑๑

 ญาณที่ ๑๑  สังขารุเปกขญาณ    
          ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่า จะหนีไม่พ้นจึงเฉยอยู่ไม่ยินดียินร้าย ดุจบุรุษอันเพิกเฉยในภริยาที่ทิ้งขว้างหย่าร้างกันแล้ว   จิตเป็นกลางต่ออารมณ์ เพราะเห็นแล้วว่ามันเป็นของเกิดดับ และหนีมันไม่ได้ ยิ่งพยายามไปปฏิเสธมัน ยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้น   จิตจึงไม่ปฏิเสธอารมณ์  เป็นกลางต่ออารมณ์    
          เมื่อว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏทั้งในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๙) และคัมภีร์วิสุทธิมรรค สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ ผู้ปฏิบัติจะมีจิตใจสงบวางเฉยไม่มีทุกขเวทนารบกวน และสามารถกำหนด สภาวะต่าง ๆ ได้ดียิ่ง ผู้ปฏิบัติได้เห็นคุณค่าของการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นอย่างมาก
          ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร  คือเมื่อพิจารณาสังขารทั้งหลายต่อไป  ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามเป็นจริงว่า มันก็เป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้น เป็นธรรมดา  หรือเป็นธรรมดาของมันอย่างนั้นเอง  จึงวางใจเป็นกลางทำเฉยได้  ไม่ยินดียินร้าย  ไม่ขัดใจติดใจในสังขารทั้งหลาย  แต่นั้นก็มองเห็นนิพพานเป็นสันติบท  ญาณจึงโน้มน้อมที่จะมุ่งแล่นไปยังนิพพานเลิกละความเกี่ยวเกาะกับสังขารทั้งหลาย ญาณข้อนี้จัดเป็นสิขาปปัตตวิปัสสนา  คือ  วิปัสสนาที่ถึงจุดสุดยอด  และเป็นวุฏฐานคามินีวิปัสสนา  คือ  วิปัสสนาที่เชื่อมถึงมรรคอันเป็นที่ออกจากสิ่งที่ยึดหรืออกจากสังขาร
           สภาวะของญาณนี้   มีลักษณะวางเฉยต่อรูป-นาม คือ เมื่อกำหนดรู้ หาทางหนี หนีไม่พ้น ยังไงก็หนีไม่พ้น ก็ต้องดูเฉยอยู่  การที่ดูเฉยอยู่นี้ทำให้ สภาวจิตเข้าสู่ความเป็นปกติ ในระดับสูง ไม่เหมือนบุคคลทั่วไป  บุคคลทั่วไปเวลาเห็นทุกข์เห็นโทษเห็นภัยนี้ สภาวะของจิตใจจะดิ้นรน ไม่ต้องการจะกระสับกระส่ายดิ้นรน   แม้แต่ในวิปัสสนาญาณก่อนหน้าสังขารุเปกขาญาณ ก็ยังมีลักษณะความดิ้นรนของจิต  คือยังมีความรู้สึกอยากจะหนี อยากจะพ้น สภาวะของจิตยังไม่อยู่ในลักษณะที่ปกติ  ยังหลุดพ้นไม่ได้  แต่เมื่อดูไปจนถึงแก่กล้า แล้วไม่มีทาง ก็ต้องวางเฉยได้ ซึ่งในขณะที่เห็นความเกิดดับเป็นภัยเป็นโทษน่าเบื่อหน่ายอยู่อย่างนั้นก็ยังวางเฉยได้ แม้จะถูกบีบคั้นอย่างแสนสาหัส แทบจะขาดใจก็วางเฉยได้   
มุญจิตุกัมยตาญาณ  ปฏิสังขาญาณ  สังขารุเปกขาญาณ  โดยอรรถเป็นอันเดียวกันต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น
  ญาณที่ ๑๒  อนุโลมญาณ   
          ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นให้คล้อยไปตามอริยสัจจ จิตปล่อยวางอะไรจะเกิดมันก็เกิด ไม่ได้ปรารถนาแม้กระทั่งมรรคผลนิพพาน
          ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจจ์  คือเมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย  ไม่พะวง  และญาณก็โน้มน้อมแล่นมุ่งตรงสู่นิพพานแล้ว  ญาณอันคล้อยต่อการตรัสรู้อริยสัจจ์  ย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ
          ว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏทั้งในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๔๑) และคัมภีร์วิสุทธิมรรค สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ ผู้ปฏิบัติจะพิจารณารูปนามว่า เป็นไตรลักษณ์ ตั้งแต่อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ญาณที่ ๔) ถึงสังขารุเปกขญาณ (ญาณที่ ๔๑) เหมือนพระมหากษัตริย์ ทรงสดับการวินิจฉัยคดีของตุลาการ ๘ ท่านแล้ว มีพระราชวินิจฉัยอนุโลมตามคำวินิจฉัยของตุลาการทั้ง ๘ ท่านนั้น ดังนั้น สัจจานุโลมิกญาณ จึงตรงกับขันติญาณ (ญาณที่ ๔๑) ในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ดังที่ท่านพระสารีบุตรนำธรรม ๒๐๑ ประการ มาจำแนกเป็นขันติญาณ เช่น รูปที่รู้ชัดโดยความไม่เที่ยง รูปที่รู้ชัดโดยความเป็นทุกข์ รูปที่รู้ชัดโดยความเป็นอนัตตา รูปใด ๆ ที่พระโยคาวจรรู้ชัดแล้ว รูปนั้น ๆ พระโยคาวจรย่อมพอใจ เพราะฉะนั้นปัญญาที่รู้ชัด จึงชื่อว่า ขันติญาณ (ญาณในความพอใจ)
          สภาวะของญาณนี้  :  เป็นญาณที่เป็นไปตามอำนาจกำลังของอริยสัจจ์ ญาณที่รู้สึกไวขึ้น  ขณะสามารถกำหนดได้ด้วยดีและแจ่มชัดรู้ครั้งสุดท้ายในบรรดาความรู้พิเศษ คือ ปัญญาที่พิจารณารูปนามอนุโลมตามญาณต่ำ และญาณสูง อุทยัพพยญาณ  ภังคญาณ  ภยญาณ  อาทีนวญาณ    นิพพิทาญาณ  มุญจิตุกัมมยตาญาณ  ปฏิสังขาญาณ  สังขารุเปกขาญาณ และอนุโลมญาณ  ตามโพธิปักขิยธรรม  ๓๗  ประการ มีสติปัฎฐาน  สัมมัปปธาน  เป็นต้นโดยสภาวะแล้ว  ได้แก่   ความรู้ครั้งสุดท้าย  ก่อนที่จะเข้าสู่โคตรภูญาณ  มรรคญาณ  ผลญาณ  โดยอาการ ๓ อย่าง คือ  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  ญาณนี้ไตรลักษณ์ปรากฏชัดมาก ๆ  เป็นญาณที่เป็นไปตามอำนาจกำลังของอริยสัจจ์ ที่จะสอดคล้องต่อไป ในโลกุตตรญาณ จากนั้นก็จะก้าวขึ้นสู่ญาณที่ ๑๓  เรียกว่า โคตรภูญาณ
ญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ       
          ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นพระนิพพาน ตัดขาดจากโคตรปุถุชนเป็นโคตรอริยชน    เมื่อจิตหมดความอยาก (ไม่มีตัณหา - พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ละตัณหาอันเป็นตัวสมุทัย แล้วนิโรธจะปรากฏเอง) จิตก็ปล่อยวางอารมณ์ทั้งปวง ถอยเข้าหาจิตผู้รู้อย่างอัตโนมัติ
เมื่อว่าโดยชื่อ ญาณนี้ปรากฏทั้งในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๑๐) และในคัมภีร์วิสุทธิมรรค สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ สภาวะจิตของผู้ปฏิบัติได้มีนิพพานเป็นอารมณ์ ข้ามพ้นโคตรปุถุชน บรรลุถึงอริยชน โดยไม่หวนกลับมาอีก ความจริงญาณนี้ แม้มีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำลายกิเลสได้หมด เปรียบเหมือนบุรุษที่มาเข้าเฝ้าพระราชา ได้เห็นพระราชาแล้วแต่ที่ไกล เมื่อมีคนมาถามว่า คุณได้เห็นพระราชาหรือยัง เขาก็ตอบว่า ยัง เพราะเขายังไม่ได้เข้าเฝ้า และทำกิจในราชสำนักได้เสร็จสิ้นฉันใดก็ฉันนั้น
          สภาวะของญาณนี้   มีหน้าที่โอนโคตรจากปุถุชนก้าวสู่ความเป็นอริยะ ในขณะนั้น จะทิ้งอารมณ์ที่เป็นรูปนาม ไปรับนิพพาน เป็นอารมณ์ แต่ว่าโคตร-ภูญาณยังเป็นโลกิยะอยู่ ตัวมันเอง เป็นโลกิยะ แต่มันไปมีอารมณ์เป็นนิพพาน แล้วจากนั้นก็จะเกิดมัคคญาณขึ้นมา เป็นญาณที่ตัดขาดจากการรู้ครั้งสุดท้าย  ได้แก่อารมณ์และจิตที่รู้ทั้งหมดดับไป สงบไป  เงียบไปหมด  สังขารทั้งหลายดับไป

ญาณที่ ๑๔  มรรคญาณ      
          ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นพระนิพพาน และตัดขาดจากกิเลสเป็นสมุจเฉทประหาร   สติ สมาธิ ปัญญา และธรรมฝ่ายการตรัสรู้ทั้งปวง รวมลงที่จิตดวงเดียวเป็นมรรคสมังคี กำลังของมรรคแหวกมโนวิญญาณซึ่งห่อหุ้มปิดบังธรรมชาติอันบริสุทธิ์ออก
 ว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏทั้งในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๑๖) และคัมภีร์วิสุทธิมรรค สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ ผู้ปฏิบัติได้เสวยนิพพานเป็นอารมณ์เป็นครั้งแรก เห็นแจ้งนิโรธสัจด้วยปัญญาของตนเอง รูปนามดับไปในญาณนี้ หมดความสงสัยในพระรัตน-ตรัยโดยสิ้นเชิง มีศีล ๕ มั่นคงเป็นนิจ กิเลสดับไปในญาณนี้ แม้มีโลภะ โทสะ โมหะ อยู่ แต่จางหายไปได้เร็วพลัน สามารถปิดอบายภูมิได้อย่างเด็ดขาด
          สภาวะของญาณนี้   มัคคญาณนี้เป็นโลกุตตรญาณ  จะทำหน้าที่ประหารกิเลสระดับอนุสัยกิเลส ทำหน้าที่รู้ทุกข์ ละเหตุแห่งทุกข์ แจ้งนิโรธ ความดับทุกข์ เจริญตนเองเต็มที่ คือองค์มรรค ๘  มีการประชุม พร้อมกัน ทำหน้าที่ละอนุสัยกิเลสแล้วก็ดับลง มีนิพพานเป็นอารมณ์

          ญาณที่ ๑๕  ผลญาณ    
          ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นพระนิพพานโดยเสวยผลแห่งสันติสุข    ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ปรากฏตัวขึ้น เป็นความว่าง สว่าง บริสุทธิ์ จิตหมดความปรุงแต่ง หมดการแสวงหา หมดกิริยาของจิต แต่ไม่ใช่หมดความรู้สึกอันเป็นการขาดสติสิ้นเชิง
          เมื่อว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏทั้งในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๑๒) และคัมภีร์วิสุทธิมรรค สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ ผู้ปฏิบัติถึงญาณนี้แม้กิเลสจะถูกประหาณไปได้อย่างเด็ดขาดด้วยมัคคญาณ แต่อำนาจของกิเลสก็ยังเหลืออยู่ เช่นเดียวกับที่เอาน้ำไปรดไอร้อนที่เหลืออยู่ในพื้นที่ไฟไหม้ แต่ไฟนั้นดับแล้ว การประหาณกิเลสด้วยผลญาณก็มีนัยเช่นนี้
          สภาวะของญาณนี้   :    ผลญาณเป็นโลกุตตรญาณ เกิดขึ้นมา ๒ ขณะ   เป็นผลของมัคคญาณ ทำหน้าที่รับนิพพานเป็นอารมณ์ ๒ ขณะ แล้วก็ดับลง
          คัมภีร์อรรถกถา อธิบายว่า   ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระอริยเจ้าเหล่านั้นจึงเข้าสมาบัติ?
       ตอบว่า เพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน  เหมือนอย่างว่า พระราชาทั้งหลายเสวยสุขในราชสมบัติ เทวดาทั้งหลายเสวยทิพยสุข ฉันใด พระอริยเจ้าทั้งหลายก็ฉันนั้น ย่อมกำหนดกาลว่า จักเสวยโลกุตรสุข จึงเข้าผลสมาบัติในขณะที่ต้องการ.
       ถามว่า ก็ผลสมาบัตินั้น เข้าอย่างไร หยุดอย่างไร ออกอย่างไร?
       ตอบว่า ก่อนอื่นการเข้าผลสมาบัตินั้นมี ๒ อย่าง คือ ไม่มนสิการอารมณ์อื่นจากพระนิพพาน และมนสิการถึงพระนิพพาน เหมือนดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
          ท่านผู้มีอายุ ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติสมาบัติ อันไม่มีนิมิต มี ๒ อย่าง คือ การไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง และการใส่ใจถึงธาตุที่หานิมิตมิได้.
       ก็ในที่นี้ มีลำดับการเข้าผลสมาบัติดังต่อไปนี้ พระอริยสาวกผู้ต้องการผลสมาบัติ ไปในที่ลับ หลีกเร้นอยู่ พึงพิจารณาสังขารด้วยอุทยัพพยญาณเป็นต้น. เมื่อท่านมีวิปัสสนาญาณโดยลำดับ อันดำเนินไปอย่างนี้ จิตย่อมเป็นอัปปนาในนิโรธด้วยอำนาจผลสมาบัติ ในลำดับโคตรภูญาณมีสังขารเป็นอารมณ์. ก็ผลจิตเท่านั้นเกิดมรรคจิตไม่เกิดแม้แก่พระเสกขบุคคล เพราะท่านน้อมไปในผลสมาบัติ
       การเข้าผลสมาบัติ เป็นการเข้าอยู่ในอารมณ์พระนิพพาน ที่ได้มาจากอริยผล ญาณอันบังเกิดแล้วแก่ตนเพื่อเสวยโลกุตตรสุข ซึ่งเป็นความสงบสุขที่พึงเห็น ประจักษ์ได้ในปัจจุบัน       
      พระนิพพานที่เป็นอารมณ์ของผลสมาบัตินั้นมี ๓ อาการคือ
          ๑. อนิมิตตนิพพาน หมายถึงว่า ผู้ที่ก้าวขึ้นสู่มัคคผลนั้น เพราะเห็นความ ไม่เที่ยง อันปราศจากนิมิตเครื่องหมาย คือ อนิจจัง โดยบุญญาธิการแต่ปางก่อน แรงด้วยสีล เมื่อเข้าผลสมาบัติก็คงมีอนิมิตตนิพพาน เป็นอารมณ์
          ๒. อัปปณิหิตนิพพาน หมายถึงว่า ผู้ที่ก้าวขึ้นสู่มัคคผลนั้น เพราะเห็นความ ทนอยู่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปรไป อันหาเป็น ปณิธิ ที่ตั้งไม่ได้ คือทุกขัง โดยบุญญาธิ การแต่ปางก่อนแรงด้วยสมาธิ เมื่อเข้าผลสมาบัติ ก็คงมี อัปปณิหิตนิพพาน เป็น อารมณ์       
          ๓. สุญญตนิพพาน หมายถึงว่า ผู้ที่ก้าวขึ้นสู่มัคคผลนั้น เพราะเห็นความ ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ อันเป็นความว่างเปล่า คืออนัตตา โดยบุญญาธิการ แต่ปางก่อนแรงด้วยปัญญา เมื่อเข้าผลสมาบัติ ก็คงมี สุญญตนิพพาน เป็นอารมณ์       
          บุคคลที่เข้าผลสมาบัติได้ต้องเป็นพระอริยบุคคล คือเป็น พระโสดาบัน พระ สกทาคามี พระอนาคามี หรือ พระอรหันต์ ส่วนปุถุชนจะเข้าผลสมาบัติไม่ได้เลย เป็นอันขาด    
          พระอริยเจ้าที่จะเข้าผลสมาบัติ ก็เข้าได้เฉพาะอริยผลที่ตนได้ ที่ตนถึงครั้ง สุดท้ายเท่านั้น แม้อริยผลที่ตนได้และผ่านพ้นมาแล้วก็ไม่สามารถจะเข้าได้ กล่าวคือ       
          พระโสดาบัน ก็เข้าผลสมาบัติได้แต่ โสดาปัตติผล     
          พระสกทาคามี ก็เข้าผลสมาบัติได้แต่ สกทาคามีผล เท่านั้น จะเข้าโสดา ปัตติผล ซึ่งถึงแม้ว่าตนจะเคยได้เคยผ่านเคยพ้นมาแล้ว ก็หาได้ไม่
          พระอนาคามี ก็เข้าผลสมาบัติได้แต่เฉพาะ อนาคามีผล         
          พระอรหันต์ ก็เข้าผลสมาบัติได้แต่ อรหัตตผลโดยเฉพาะเช่นกัน         

 ญาณที่ ๑๖  ปัจจเวกขณญาณ   
          ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นใน มัคคจิต,ผลจิต,นิพพานกิเลสที่ละแล้ว และกิเลสที่ยังคงเหลืออยู่
          ว่าโดยชื่อ ญาณนี้ปรากฏในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๑๔) และในคัมภีร์วิสุทธิมรรค สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ ผู้ปฏิบัติได้พิจารณากิเลสที่ตนละได้และที่ตนยังละไม่ได้ สำหรับกิเลสที่ยังละไม่ได้ ผู้ปฏิบัติก็จะมุ่งหน้าเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเพื่อที่จะได้บรรลุคุณธรรมที่สูงขึ้นไป จนกว่าจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์   
สภาวะของญาณนี้  :   ญาณพิจารณา มรรค ผล นิพพาน เป็นญาณพิจารณา เหมือนคนที่ผ่านเหตุการณ์อะไรมา ก็จะกลับพิจารณาสิ่งที่ผ่านมา   แต่ญาณนี้ พิจารณามรรคที่ตนเองได้ พิจารณาผลที่ตนเองได้  พิจารณาพระนิพพาน  และถ้าคนมีหลักปริยัติ ก็จะพิจารณากิเลสอันใด ที่ละ ไปได้แล้ว กิเลสอันใดที่ยังเหลืออยู่  และถ้าคนไม่มีหลักปริยัติก็พิจารณาแค่ มรรค ผล นิพพาน    ในระหว่างที่ญาณ ก้าวขึ้นสู่อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณนี้ ท่านก็อุปมาให้ฟัง เหมือนกับ บุคคลที่จะก้าวกระโดดข้ามฝั่ง  ฝั่งมันอยู่ไกล  ก็โหนเถาวัลย์ ก็ต้องอาศัยกำลังที่วิ่งมาอย่างแรง วิ่งมาด้วยความไว  แล้วก็เหนี่ยวเอาเถาวัลย์โยนตัวขึ้นไป  ในขณะที่โยนตัวขึ้นไป ก็เหมือนเป็นอนุโลมญาณ คล้อยไป  พอข้ามไปถึงฝั่งหนึ่งก็ปล่อยเถาวัลย์นั้น ในขณะที่ปล่อยนั้นเหมือนกับโคตรภูญาณ คือปล่อยอารมณ์ที่เป็นโลกิยะ ได้แก่รูปนาม  ไปรับนิพพานซึ่งเป็นโลกุตตระเป็นอารมณ์ แล้วก็ตกลงถึงพื้น ในขณะตกลงถึงพื้น เหมือนเป็นมัคคญาณ  แล้วพอตั้งหลักได้ ก็เป็น ผลญาณเกิดขึ้น  หลังจากนั้นก็พิจารณา แต่ว่าในสภาวธรรมของโลกุตตระ มันเป็นธรรมที่พ้นโลก ผู้ปฏิบัติที่เข้าถึงแล้ว ก็ไม่สามารถนำมาแสดง ให้แจ่มแจ้งได้ เพราะมัน เป็นเรื่องที่รู้ได้เฉพาะตน บุคคลอื่นที่ยังเข้าไม่ถึงจะไม่สามารถจะทำความเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง   เพราะว่า ความคิดความอ่านของปุถุชน ก็จะมีความรู้สึกที่อยู่ในโลก  เป็นไปในโลกนี้ มันจะมีขอบเขตของการนึกคิด ความเข้าใจอยู่ในโลก    ส่วนสภาพโลกุตตรธรรมที่พ้นโลกนั้น ปุถุชนจะคิดไปไม่ถึงเลย จะไม่สามารถจะทำ ความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้
      


    นี่ก็เป็นการแสดงลำดับความเป็นไปพอสังเขปของวิปัสสนาญาณ ที่ทำให้บรรลุความเป็นอริยบุคคล  ผ่านญาณ ๑๖  รอบที่ ๑ ก็ได้สำเร็จเป็นโสดาบัน กิเลสยังไม่หมด  แต่ว่าตัดออกไปได้บางส่วน  แต่ส่วนไหนที่ตัดขาดไปแล้ว จะไม่เกิดขึ้นในจิตใจอีกเลย  เช่น  ความสงสัยจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย   ความโลภที่ประกอบไปด้วยความเห็นผิด หมดไปเลยจากจิตใจ จะมีเห็นอย่างถูกต้อง เข้าใจอย่างถูกต้อง แต่ว่าก็ยังมีความโลภบางอย่าง มีโทสะบางอย่าง  แต่ว่าไม่รุนแรงถึงขนาดที่จะกระทำอกุศลกรรม ชนิดที่จะนำไปสู่อบาย   โสดาบันนี้ ศีล ๕ จึงบริสุทธิ์  จะไม่ล่วงศีล เป็นเด็ดขาด แต่ก็ยังมีความโลภ ยังมีความโกรธ แต่ว่าไม่มีความอาฆาตมาดร้าย ไม่มีความตระหนี่  นี่เป็นลักษณะของโสดาบัน ก็เท่ากับทำลายภพชาติ ไปมากมาย การที่จะเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไปก็จะเกิดอย่างมาก ๗ ชาติ ก็จะสำเร็จเป็นอรหันต์    ถึงแม้จะขาดความเพียร เกิดไป ๆ ๗  ชาติยังไงก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็ปรินิพพาน  ก็พ้นจากการเวียนว่าย ตายเกิด    แต่ถ้าหากบุคคล ได้เพียร พยายามต่อไป สามารถที่จะดำเนินผ่านญาณ ๑๖ อีกรอบหนึ่ง ก็ลักษณะ เดียวกัน ผ่านญาณ ๑๖  รอบที่ ๒ ก็เป็น สกทาคามิบุคคล   ผ่านญาณ ๑๖ รอบที่ ๓   ก็เป็น อนาคามิบุคคล   ผ่านญาณ ๑๖ รอบที่ ๔  ก็หมดสิ้นกิเลส เป็นพระอรหันต์ เป็นอเสขบุคคล ไม่ต้องศึกษาอีกต่อไป พ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น