สติปัฏฐาน๔

สติปัฏฐาน 4 เป็นหลักธรรมที่อยู่ในมหาสติปัฏฐานสูตร[1] เป็นข้อปฏิบัติเพื่อรู้แจ้ง คือเข้าใจตามเป็นจริงของสิ่งทั้งปวงโดยไม่ถูกกิเลสครอบงำ สติปัฏฐานมี 4 ระดับ คือ กาย เวทนา จิต และ ธรรม
คำว่าสติปัฏฐานนั้นมาจาก (สร ธาตุ + ติ ปัจจัย + ป อุปสัคค์ + ฐา ธาตุ) แปลว่า สติที่ตั้งมั่น, การหมั่นระลึก, การมีสัมมาสติระลึกรู้นั้นพ้นจากการคิดโดยตั้งใจ แต่เกิดจากจิตจำสภาวะได้ แล้วระลึกรู้โดยอัตโนมัติ โดยคำว่า สติ หมายถึงความระลึกรู้ เป็นเจตสิกประ​เภทหนึ่ง​ ส่วนปัฏฐาน ​แปล​ได้​หลายอย่าง​ ​แต่​ใน​ ​มหาสติปัฏฐานสูตร​ ​และ​ ​สติปัฏฐานสูตร​ ​หมาย​ถึง​ ​ความตั้งมั่น, ความแน่วแน่, ความมุ่งมั่น
โดยรวมคือเข้าไปรู้เห็นในสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ตามมุ่งมองของไตรลักษณ์หรือสามัญลักษณะ โดยไม่มีความยึดติดด้วยอำนาจกิเลสทั้งปวง ได้แก่
  1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การมีสติระลึกรู้กายเป็นฐาน ซึ่งกายในที่นี่หมายถึงประชุม หรือรวม นั่นคือธาตุ 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟมาประชุมรวมกันเป็นร่างกาย ไม่มองกายด้วยความเป็นคน สัตว์ เรา เขา แต่มองแยกเป็น รูปธรรมหนึ่งๆ เห็นความเกิดดับ กายล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
  2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การมีสติระลึกรู้เวทนาเป็นฐาน ไม่มองเวทนาด้วยความเป็นคน สัตว์ เรา เขาคือไม่มองว่าเรากำลังทุกข์ หรือเรากำลังสุข หรือเราเฉยๆ แต่มองแยกเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง เห็นความเกิดดับ เวทนาล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
  3. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การมีสติระลึกรู้จิตเป็นฐาน เป็นการนำจิตมาระลึกรู้เจตสิกหรือรู้จิตก็ได้ ไม่มองจิตด้วยความเป็นคน สัตว์ เรา เขา คือไม่มองว่าเรากำลังคิด เรากำลังโกรธ หรือเรากำลังเหม่อลอย แต่มองแยกเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง เห็นความเกิดดับ จิตล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
  4. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การมีสติระลึกรู้สภาวะธรรมเป็นฐาน ทั้งรูปธรรมและนามธรรมล้วนมีความเกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา

มติอาจารย์บางพวก[แก้]

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การพิจารณารูปขันธ์ อานิสงค์ คือ ทำลายสุภวิปลาส (สำคัญความไม่งามว่างาม) เหมาะสมกับนักปฏิบัติที่เป็นตัณหาจริตทั้ง 3 คือราคะจริต โทสะจริต โมหะจริต และเป็นสมถยานิก
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การพิจารณาเวทนาขันธ์ อานิสงค์ คือ ทำลายสุขวิปลาส (สำคัญความทุกข์ว่าสุข) เหมาะสมกับนักปฏิบัติที่เป็นตัณหาจริตทั้ง 3 คือราคะจริต โทสะจริต โมหะจริต และเป็นสมถยานิก
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การพิจารณาวิญญาณขันธ์ อานิสงค์ คือ ทำลายอนิจจวิปลาส (สำคัญความไม่แน่นอนว่าแน่นอน) เหมาะสมกับนักปฏิบัติที่เป็นทิฏฐิจริตทั้ง 3 คือศรัทธาจริต พุทธิจริต วิตกจริต และเป็นวิปัสสนายานิก
ธรรมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การพิจารณาสัญญาขันธ์และสังขารขันธ์ อานิสงค์ คือ ทำลายอนัตตวิปลาส (ความไม่มีตัวตนว่ามีตัวตน) เหมาะสมกับนักปฏิบัติที่เป็นทิฏฐิจริตทั้ง 3 คือศรัทธาจริต พุทธิจริต วิตกจริต และเป็นวิปัสสนายานิก
คำว่า สมถะยานิก ไม่ได้หมายถึง ความมีสมาธิมากหรือน้อย แต่กล่าวถึง ผู้ที่ใช้สมถะนำเพราะเหมาะแก่ตน ซึ่งบุคคลคนๆนั้น อาจมีสมาธิมาก หรือน้อยก็ได้ มีมากก็เช่นในทิฏฐิวิสุทธินิทเทส มีน้อยก็ตามเนตติปกรณ์และสติปัฏฐานสูตร. จริงอย่างนั้น ในทิฏฐิวิสุทธินิทเทส ท่านกล่าวสมถะยานิกไว้ในฐานะที่มีสมาธิมาก, ส่วนในเนตติปกรณ์และสติปัฏฐานสูตร เป็นต้น ท่านกล่าวไว้ในฐานะที่เหมาะกับตัณหาจริต เพราะเป็นสภาพที่เป็นปฏิปักษ์กัน จึงเหมาะแก่การกำจัดจริตฝ่ายชั่วนั้นๆ. แต่ท่านไม่ได้หมายถึง การที่พระสมถะยานิก มีโพชฌงค์ฝ่ายสมาธิมากในที่นั้นเลย มีแต่ในวิสุทธิมรรค ซึ่งคนละนัยยะกับสติปัฏฐานสูตร

นอกจากนี้ อาจารย์เหล่านั้นยังกล่าวว่า .-
"โดยที่อานาปานสติเหมาะสมกับทุกจริตทั้งตัณหาจริต และทิฏฐิจริต ทั้งสมถะยานิก และวิปัสสนายานิก" ดังนี้
ข้อนั้นไม่สมกับพระไตรปิฎก เพราะท่านกล่าวไว้ว่า อานาปานสติเป็นกายานุปัสนาสติปัฏฐาน ในอรรถกถากล่าวว่า กายานุปัสนาสติปัฏฐาน เหมาะกับ ตัณหาจริต สมถยานิก, และในวิสุทธิมรรค ท่านก็กล่าวความที่อานาปานสติเหมาะแก่โมหจริตไว้ในสมาธินิทเทส ซึ่งหนังสือพุทธธรรมก็ได้อ้างถึงไว้ด้วย
อนึ่ง ความหมายนี้ในพระไตรปิฎกใช้เพียงคำว่า สติปัฏฐาน เท่านั้น ส่วนคำว่า มหาสติปัฏฐาน นั้นมีใช้เป็นชื่อพระสูตรเท่านั้น ไม่มีใช้ในความหมายนี้โดยตรง

อ้างอิง[แก้]

  1. กระโดดขึ้น พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสติปัฏฐานสูตร . พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1]. เข้าถึงเมื่อ 7-7-52

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น