วันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วิทยานิพนธ์ พระมหาศรพนา บทที่ 1

การใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียน
วิชาพระพุทธศาสนา สำหรับนักเรียนโรงเรียน
วัดเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่การศึกษา
ประถมศึกษานนทบุรี เขต 1









พระมหาศรพนา  ลาคำ









การศึกษาค้นคว้าอิสระนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิตแขนงวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
พ.ศ. 2555
The Use of Textbooks as Printed Learning Media in the Buddhism Course for
Students at Wat Chalerm Phra Kiat School in Nonthaburi Primary
Education Sevice Area 1









Phramaha Sonpana  Lakam








An Independent Study Submitted in Partial Fulfillment of the Requirements for
the Degree of Master of Education in Educational Technology and Communications
School of Educational Studies
Sukhothai Thammathirat Open University
2012



ชื่อการศึกษาค้นคว้าอิสระ          การใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา สำหรับนักเรียนโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1
ผู้ศึกษา พระมหาศรพนา  ลาคำ  รหัสนักศึกษา 2532700511  ปริญญา ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต
(เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา) อาจารย์ที่ปรึกษา รองศาสตราจารย์ ดร. วาสนา  ทวีกุลทรัพย์  ปีการศึกษา 2555


บทคัดย่อ

                  การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา สำหรับนักเรียนโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรีเขต 1
                  ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 จำนวน 220 คนที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555 ที่โรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียน วิชาพระพุทธศาสนา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
                  ผลการวิจัย พบว่า การใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียน วิชาพระพุทธศาสนา โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้านอยู่ในระดับมากทุกด้าน ดังนี้ คือ (1) การใช้เนื้อหาสาระและเทคนิคด้านส่วนนำแผนผังแนวคิดช่วยให้นักเรียนทราบถึงภาพรวมของเนื้อหาทั้งหมดที่จะต้องศึกษา ภาษาที่ใช้ช่วยให้นักเรียนอ่านแล้วเข้าใจง่าย กิจกรรมนำสู่การเรียนช่วยให้นักเรียนปรับพื้นฐานความรู้ของนักเรียน ส่วนท้าย คือ หน้าประกาศช่วยให้นักเรียนทราบรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการจัดพิมพ์และเทคนิค และกระดาษที่ใช้มีความคงทนถาวรต่อการหยิบใช้ของนักเรียน (2) การใช้หนังสือเรียนสำหรับการเรียนในชั่วโมงเรียนช่วยให้นักเรียนมีความสนใจในการเรียน ระหว่างเรียนนักเรียนใช้ประกอบกิจกรรมที่เรียน หลังเรียนใช้อ่านทบทวนความรู้ที่ได้ศึกษาผ่านมา (3) การใช้หนังสือเรียนสำหรับการเรียนนอกชั่วโมงเรียน นักเรียนใช้ศึกษาหาความรู้เสริมจากที่เรียนในห้องเรียน จะใช้หนังสือเรียนเป็นสื่อเสริมช่วยในการทำการบ้าน และใช้อ้างอิงแหล่งที่มาของเนื้อหา และ (4) ประโยชน์จากการใช้หนังสือเรียน ทำให้นักเรียนสามารถทบทวนความรู้ด้วยตนเองได้ตลอดเวลา คุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่ได้จากหนังสือเรียน คือ นักเรียนสามารถคิดวิจารณ์เรื่องราวต่างๆ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้
คำสำคัญ           สื่อสิ่งพิมพ์  หนังสือเรียน  รายวิชาพระพุทธศาสนา  นักเรียนประถมศึกษา
Independent Study title:              The Use of Textbooks as Printed Learning Media in the
                                             Buddhism Course for Students at Wat Chalerm Phra Kiat
                                             School in Nonthaburi Primary Education Sevice Area 1  
Author: Phramaha Sornphana  Lakham; ID:2532700511;
Degree: Mater of Education (Educational Technology and Communications);
Independent Study advisor: Dr. Wasana Taweekulasap, Associate Professor;
Academic year: 2012


Abstract

                  The purpose of this research was to study the use of textbooks as printed learning media in the Buddhism Course for students at Wat Chalerm Phra Kiat School in Nonthaburi Primary Education Service Area 1.
                  The research population comprised 220 Prathom Suksa V – VI students studying in the first semester of the 2012 academic year at Wat Chalerm Phra Kiat School in Nonthaburi Primary Education Service Area 1. The employed research instrument was a questionnaire on opinions toward the use of textbooks as printed learning media in the Buddhism Course. Statistics employed for data analysis were the percentage, mean, and standard deviation.
                  Research findings showed that the overall use of textbooks as printed learning media in the Buddhism Course was at the high level.  When individual aspects of the use were considered, it was found to be at the high level in all aspects the details of which were as follows: (1) the use of textbook contents and concept mapping as the introductory technique helped the students to know the whole content they have to study; the textbook language was easy for the students to understand; activities for learning helped the student to adjust their knowledge background; the announcement page helped the students to know details on publication and technique; and the textbook paper was durable and convenient for the students to use; (2) the use of textbooks for learning in the classroom sessions helped the students to be interested in their learning and helped them to undertake their learning activities; after learning the students used textbooks for reviewing what they had recently learned; (3) in the use of textbooks for learning outside of the classroom, the students used them for learning more knowledge in addition to what they had learned in the classroom; they used them as the supplementary media in doing their homework and as reference sources for knowledge contents; and (4) the benefits of using textbooks were that the students could review their knowledge by themselves all the time; and the desirable characteristics they gained from using textbooks were that they were able to develop their critical thinking and to apply the obtained knowledge in solving their problems.






Keywords:        Printed learning media, Textbook, Buddhism Course,
                     Prathom Suksa student
กิตติกรรมประกาศ

              การศึกษาวิจัยค้นคว้าแบบอิสระฉบับนี้เสร็จสมบูรณ์ได้ด้วยความกรุณาอย่างยิ่งจาก
รองศาสตราจารย์ ดร.วาสนา  ทวีกุลทรัพย์ อาจารย์ที่ปรึกษา ที่กรุณาให้คำปรึกษา แนะนำ ติดตาม และให้การช่วยเหลือในด้านต่างๆ ด้วยดีมาโดยตลอด จนกระทั่งเสร็จอย่างสมบูรณ์ ผู้วิจัยรู้สึกซาบซึ้งใจในความกรุณาของท่านเป็นอย่างยิ่ง ขอเจริญพรขอบคุณอย่างสูงและขออนุโมทนา มา ณ โอกาสนี้
              ขอเจริญพรขอบคุณ รองศาสตราจารย์ นวลเสน่ห์ เชิดชูธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านการประเมินผล รองศาสตราจารย์สาธิต  วิมลคุณารักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีการศึกษา และอาจารย์ ดร.ศันสนีย์  สังสรรค์อนันต์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเนื้อหา ที่เสียสละเวลาตรวจสอบเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยและให้คำแนะนำจนทำให้การวิจัยครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และคณาจารย์สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ แขนงวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาทุกท่าน ที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้และประสบการณ์ตลอดระยะเวลาการศึกษา
              ขอกราบขอบพระคุณ พระธรรมกิตติมุนี เจ้าอาวาสวัดเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนนทบุรี พระอธิการประหยัด สุจิณฺโน เจ้าอาวาสวัดบ้านติมรัตนาราม จังหวัดศรีสะเกษ พระเถรานุเถระ และเพื่อนสหธัมมิก ที่ได้เมตตาให้กำลังใจในการศึกษาด้วยดี
              ขอเจริญพร ขอบคุณท่านผู้อำนวยการสถานศึกษา คณาจารย์ โรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ ที่ให้กำลังใจและให้คำปรึกษาด้วยดี และขอบใจนักเรียนชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 5-6 ปีการศึกษา 2555 ทุกคน ที่ให้ความร่วมมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นอย่างดี  
              ขอแสดงกตัญญูกตเวทิตาคุณแด่ โยมพ่ออุดร โยมแม่สุเทียน ลาคำ และขอบใจ น้องๆ ทุกคนที่คอยห่วงใย ให้กำลังใจ และให้ความสนับสนุนด้วยดีจนสำเร็จการศึกษา
              ขอกราบขอบพระคุณ/เจริญพรขอบคุณ เพื่อนๆ นักศึกษาปริญญาโท แขนงวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาทุกคนที่ให้ความช่วยเหลือในหลายๆ ด้านและเป็นกำลังใจด้วยดีเสมอมา จนสำเร็จการศึกษา
              สุดท้ายนี้ คุณค่าและประโชน์อันเกิดจากการวิจัยค้นคว้าอิสระฉบับนี้ ผู้วิจัยขออุทิศให้แก่เจ้ากรรมนายเวรทุกผู้ ทุกตัวตน ขอให้ได้รับส่วนกุศลนี้ ได้อนุโมทนา และอโหสิกรรมให้แก่กันและกันด้วย เทอญ
                                                                   พระมหาศรพนา  ลาคำ
                                                                   กรกฎาคม  2556

บทที่  1
บทนำ


1.  ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

1.1       สภาพที่พึงประสงค์ ในการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียน
     กรมวิชาการ (2544: 2-8) ได้กล่าวไว้ว่า สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนเป็นสื่อที่มีการผลิตมาแต่สมัยโบราณ กระบวนการผลิตจึงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งคนทั่วไปก็นิยมใช้เป็นแหล่งความรู้อย่างกว้างขวาง จึงได้รับการผลิตออกมาปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนมาก ในด้านการเรียนการสอนนับได้ว่าเป็นสื่อที่มีความสำคัญมากอย่างยิ่ง ในบรรดาสื่อการเรียนการสอนประเภทต่างๆ ที่ใช้ในกระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียน สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนเป็นพื้นฐานที่ใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนที่เก่าแก่และมีความสำคัญมากมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน แม้ปัจจุบัน สื่อการเรียนการสอนจะเกิดขึ้นมากมาย แต่บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนก็มิได้ถดถอยลง โรงเรียนยังอาศัยสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนเป็นสื่อหลักในการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามจุดประสงค์ของหลักสูตร สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนเป็นแหล่งความรู้ ที่ยอมรับกันว่าสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนช่วยเพิ่มพูนความรู้  ความคิด และประสบการณ์ให้กว้างขวางขึ้น เป็นเสมือนคลังแห่งความรู้ ความคิด และวิทยาการทุกด้านของมนุษย์  โดยมนุษย์พยายามจะบันทึกรักษาไว้ด้วยลายลักษณ์อักษร เมื่อสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนแพร่ไปถึงที่ใดความรู้ ความคิด และวิทยาการก็จะแพร่กระจายไปถึงที่นั่น จึงเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่งที่ทำให้มนุษย์พัฒนาปัญญาของตน แม้ในโลกปัจจุบันจะมีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เข้ามามีบทบาทอย่างกว้างขวาง แต่ก็คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนยังเป็นสื่อพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็น เพราะมีลักษณะเฉพาะตัว  ที่เอื้ออำนวยในการสื่อสารไปยังนักเรียนเป็นจำนวนมาก มีการยืดหยุ่นหมุนเวียนสามารถหยิบยืมกันใช้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ เก็บรักษาได้ง่ายไม่ยุ่งยากเหมือนสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ทั้งนี้ สมพร  จารุนัฎ (2534: 40-43) ได้กล่าวถึง บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนว่า มี 5 บทบาท คือ (1) เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักเรียนได้รับความรู้ ความเข้าใจและเกิดความคิด จากการอ่านโดยมีครูผู้สอนเป็นผู้ช่วยกำหนดให้เป็นไปตามขั้นตอนทีละเล็กทีละน้อยตามลำดับจนเกิดการเรียนรู้ที่กว้างขวางขึ้น เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจ ความคิด  และทักษะที่แน่ชัด (2) เป็นเครื่องนำฐานะเป็นผู้ชี้นำ สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนที่ดีควรให้นักเรียนได้รับทั้งความรู้ ความคิด ทักษะเจตคติ รวมทั้งความสามารถที่จะนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และให้แนวทางแก่ผู้อื่นในการศึกษาหาความรู้ พัฒนาความคิด และการนำความรู้ไปใช้ให้ได้ประโยชน์ด้วย (3) เป็นแหล่งประมวลความรู้  สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนที่ดีจึงต้องมีลักษณะที่เป็นแหล่งความรู้ที่มีคุณค่าและมีความหมายต่อผู้เรียนซึ่งอาจหาไม่ได้จากหนังสือประเภทอื่นๆ ครูอาจ จะต้องเอาใจใส่พิเศษเกี่ยวกับการเลือกสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียน (4) เป็นทางนำไปสู่ความหมายของความจริง การศึกษาจากการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียน ต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบหลายอย่าง ตั้งแต่ตัวผู้เขียน ความมุ่งหมายของผู้เขียน
ตัวผู้อ่าน ความมุ่งหมายในการอ่าน และสภาพแวดล้อมต่างๆ มิฉะนั้นแล้ว นักเรียนอาจไม่เกิดการเรียนรู้ตามที่ควรจะเป็นก็ได้ และ (
5) เป็นแรงกระตุ้นและแรงบัลดาลใจ สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียน อาจทำให้น่าสนใจได้ด้วยการสร้างคุณสมบัติทั้งภายในและภายนอกให้ดึงดูดความสนใจตั้งแต่รูปร่างหน้าตา ตัวหนังสือ สีสัน ภาพประกอบ เรื่อยไปจนถึงการนำเสนอเนื้อหา การตั้งชื่อบท ตอน หัวข้อใหญ่ หัวข้อย่อย คำถาม กิจกรรม เป็นต้น
     นอกจากนี้ อมรา  เล็กเริงสินธุ์ (2540: 153) ที่ได้กล่าวถึงความสำคัญของสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนไว้ว่า (1) เป็นแหล่งข้อมูลที่รวบรวมเนื้อหาในการเรียนการสอน ไว้ตามลำดับขั้นตอนตามหลักสูตร ทำให้สะดวกในการสอนช่วยให้นักเรียนได้รับความรู้ครบตามความมุ่งหมายของหลักสูตร (2) เป็นสื่อการเรียนการสอนที่นักเรียนจะใช้ศึกษาเป็นรายบุคคลได้ดี เพราะนักเรียนเรียนได้ตามกำลังความสามารถและช่วยให้ครูมอบหมายงานให้นักเรียนได้ตามความสามารถ (3) เป็นคู่มือในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และแนวทางในการให้เกิดการค้นคว้าทดลอง (4) เป็นสื่อการเรียนการสอนที่กะทัดรัด ช่วยสรุปและให้คำตอบในการแก้ปัญหาต่างๆ อย่างมีขอบเขตในวงการนั้นๆ และเหมาะสมกับระดับความรู้ของนักเรียนในชั้นนั้นๆ และ
(
5) เป็นพื้นฐานสำคัญก่อให้เกิดแรงบันดาลใจแก่นักวิชาการที่จะสร้างสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนอื่นๆ ตามมา ดังนั้น สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนที่ดีจึงมีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาตามหลักสูตรและลำดับชั้น
1.2       สภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ในการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียน
     สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนาจัดทำขึ้นเพื่อใช้ประกอบการเรียน โดยดำเนินการให้สอดคล้องตามกรอบของครบตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ทุกประการส่งเสริมกระบวนการคิด การสืบเสาะหาความรู้ การแก้ปัญหา  ความสามารถในการสื่อสาร การติดสินใจ การนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมให้นักเรียนมีค่านิยมที่ดีงาม พัฒนาตนเองอยู่เสมอ รวมถึงการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและส่วนรวม ประกอบด้วย 6 หน่วย ในแต่ละหน่วยแบ่งเป็นหัวข้อย่อยๆ ซึ่งประกอบด้วย (1) เป้าหมายการเรียนรู้ประจำหน่วย  กำหนดระดับความรู้ ความสามารถของนักเรียนว่าเมื่อเรียนจบในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ต้องบรรลุมาตรฐานตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ในหลักสูตรข้อใดบ้าง (2) แนวคิดสำคัญ แก่นความรู้ที่เป็นความรู้ความเข้าใจคงทนติดตัวนักเรียน (3) เนื้อหา  ครบตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 รวมทั้งนำเสนอเหมาะสมกับการเรียนการสอนในแต่ละระดับชั้น (4) กิจกรรม  มีหลากหลายรูปแบบให้นักเรียนปฏิบัติ แบ่งเป็น (4.1) กิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียน นำเข้าสู่บทเรียนเพื่อกระตุ้นความสนใจแก่นักเรียน (4.2) กิจกรรมรวบยอด ให้นักเรียนปฏิบัติเพื่อแสดงพฤติกรรมการเรียนรู้รวบยอดและประเมินผลการเรียนรู้ตามมาตรฐานตัวชี้วัดประจำหน่วย วิชาพระพุทธศาสนา กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักเรียนที่จะได้ศึกษาประวัติความเป็นมา  หลักธรรมคำสั่งสอน และแนวทางการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อนำไปเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติตน ตลอดจนเป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่ชนรุ่นหลัง ทั้งยังเป็นแนวทางในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข มีระเบียบวินัย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีคุณธรรม จริยธรรม ปัจจุบันสถาบันการศึกษาได้ให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับวิชาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ดังนั้น สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียนวิชาพระพุทธศาสนาจึงมีความสำคัญมากในการจัดการเรียนการสอน (จงจรัส  แจ่มจันทร์ และคณะ 2551: คำนำ) 
     สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนาที่โรงเรียนวัดเฉลิมพระ-เกียรติใช้ประกอบการเรียนการสอนนั้น ได้รับงบประมาณสนับสนุนตามโครงการเรียนฟรี 15ปี จากกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการจัดซื้อตามมติที่ประชุม พิจารณาร่วมกันคัดเลือกให้เหมาะสมตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีขนาด 8 หน้ายก ระบบพิมพ์ 4 สี ขนาดตัวอักษร 20 พ้อยท์ จำนวน 138 หน้า เมื่อแจกให้นักเรียนแล้ว ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของนักเรียนเลย  ไม่ต้องคืนทางโรงเรียนอีก โดยมีการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีพระภิกษุที่เป็นครูพระสอนศีลธรรม สังกัดมหาวิทยาลัย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นผู้สอนโดยแบ่งความรับผิดชอบ สอนชั้นละ
1 รูป รวมทั้งหมด 4 รูป ซึ่งกำหนดให้ใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนที่ทางโรงเรียนเตรียมไว้ประกอบการเรียนการสอนและสามารถนำสื่อการเรียนการสอนมาสอนเสริมได้ตามความเหมาะสม   
1.3       สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียน
     การใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียนวิชาพระพุทธศาสนาสำหรับนักเรียนโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1  นั้น ไม่มีรูปแบบการใช้ที่แน่นอน นักเรียนจะใช้ก็ต่อเมื่อครูเป็นผู้บอกให้ใช้ เป็นส่วนมาก  ส่งผลให้ผลการเรียนของนักเรียนไม่เท่ากัน
     จากการสอบถามครูผู้สอน พบว่า นักเรียนส่วนมากยังขาดความกระตือรือร้นในการอ่านหนังสือเรียน หากมีเวลาว่างก็จะนำหนังสือการ์ตูน นวนิยาย ฯ มาอ่าน ส่งผลทำให้การเรียนของนักเรียนไม่ค่อยดีเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้ ครูจึงต้องคอยให้การแนะนำและกำหนดกิจกรรมให้นักเรียนใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนให้มากที่สุดทั้งในเวลาเรียนและนอกเวลาเรียน เช่น ให้ทำกิจกรรมท้ายบท ให้การบ้าน เป็นต้น เพื่อให้นักเรียนได้รู้จักการนำสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าอย่างสูงสุดสอดคล้องกับ ทิพย์เกสร  บุญอำไพ (2549: 19) ที่กล่าวว่า หากครูคอยชี้แนะข้อดีและข้อเสียของสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนจะช่วยให้นักเรียนรู้จักเลือกสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนมาอ่านได้
1.4       ความพยายามในการแก้ไขปัญหา ในการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียน
     จากการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบ การวิจัยเชิงทดลองของ ธนิต  ทองหล่อ (2550)ได้ทำการศึกษาเรื่อง รายงานผลการใช้สื่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง ศาสนา กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า (1) ประสิทธิภาพของสื่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง ศาสนา มีประสิทธิภาพเท่ากับ 85.79/87.18 ซึ่งเป็นไปได้ตามเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้ (2) ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง ศาสนา พบว่า คะแนนหลังเรียนสูงกว่าคะแนนก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ (3) ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง ศาสนา พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก
     จากการศึกษา พบว่า การใช้สื่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องศาสนา นักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก เพราะสื่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง ศาสนา มีประสิทธิภาพและช่วยให้นักเรียนมีผลการเรียนสูงขึ้น 
1.5       แนวทางที่ผู้วิจัยจะดำเนินการแก้ไขปัญหาในการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียน
     จากความพยายามในการแก้ปัญหาข้างต้น ผู้วิจัยจึงได้ทำการศึกษา การใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา สำหรับนักเรียนโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1 ขึ้นมาเพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนในด้าน 1) การใช้เนื้อหาและเทคนิคของหนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนา (2) การใช้หนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในชั่วโมงเรียนและนอกชั่วโมงเรียน และ (3) ประโยชน์จากการใช้หนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนา เพื่อหาแนวทางในการใช้หนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนาที่มีประสิทธิภาพ
2.  วัตถุประสงค์ของการวิจัย

2.1       วัตถุประสงค์ทั่วไป
     เพื่อศึกษาการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา สำหรับนักเรียนโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1
2.2       วัตถุประสงค์เฉพาะ
     2.2.1  เพื่อศึกษาการใช้เนื้อหาและเทคนิคของสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา
     2.2.2  เพื่อศึกษาการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียน วิชาพระพุทธศาสนา ในชั่วโมงเรียนและนอกชั่วโมงเรียน
     2.2.3  เพื่อศึกษาประโยชน์จากการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียน ประกอบการเรียน วิชาพระพุทธศาสนา

3.  ขอบเขตของการวิจัย

3.1       รูปแบบการวิจัย เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ
3.2       ประชากร ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 โรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1 ที่กำลังศึกษาอยู่ใน
ภาคเรียนที่
1 ปีการศึกษา 2555 จำนวน 220 คน 
3.3       ขอบข่ายเนื้อหาสาระการวิจัย ครอบคลุม การใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา สำหรับนักเรียนโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1 แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ (1) การใช้เนื้อหาและเทคนิคของหนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนา (2) การใช้หนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในชั่วโมงเรียนและนอกชั่วโมงเรียน และ (3) ประโยชน์จากการใช้หนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนา
3.4       เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา สำหรับนักเรียนโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1
3.5       ระยะเวลาในการดำเนินการวิจัย ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2555 - กรกฎาคม 2556

4.  นิยามศัพท์เฉพาะ

4.1       สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียน หมายถึง เอกสารทางวิชาการที่จัดทำขึ้นเพื่อให้นักเรียนใช้เป็นสื่อหลักในการเรียนการสอนซึ่งมีเนื้อหาสาระครบถ้วนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มีหลักฐานทางวิชาการที่มั่นคง แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนนำ ส่วนเนื้อหา ส่วนกิจกรรม และส่วนท้าย
4.2       หนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนา หมายถึง สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนาที่ทางโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติได้คัดเลือกเพื่อนำมาใช้ประกอบการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ซึ่งมีเนื้อหาสาระครบถ้วนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
4.3       การใช้หนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนา หมายถึง การใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในส่วนเนื้อหาและเทคนิคของหนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนาประกอบการเรียนในชั่วโมงเรียนและนอกชั่วโมงเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนและการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันมากที่สุด
4.4       การใช้เนื้อหาและเทคนิคของหนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนา หมายถึง การใช้ส่วนเนื้อหา ครอบคลุม ส่วนนำ ประกอบด้วย การใช้ปก คำนำ คำชี้แจงในการใช้ แผนผังความคิด สารบัญ การเรียนรู้และตัวชี้วัด เป้าหมายการเรียนรู้ และแนวคิดสำคัญ ส่วนเนื้อหา ประกอบด้วย การใช้การวางโครงเรื่อง เนื้อหา ภาษา ตัวอักษรและภาพประกอบ ส่วนกิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมสำหรับการนำเข้าสู่การเรียน การใช้สำหรับการเรียนโดยตรงระหว่างเรียน และการใช้สำหรับการเรียนโดยตรงหลังเรียน และส่วนท้าย ประกอบด้วย การใช้การอ้างอิง คำสำคัญ และหน้าประกาศ และการใช้เทคนิค ประกอบด้วย การใช้รูปเล่ม การออกแบบ และกระดาษ   เพื่อให้เกิดประโยชน์และให้ความรู้แก่นักเรียนอย่างสูงสุด
4.5       การใช้หนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในชั่วโมงเรียนและนอกชั่วโมงเรียน หมายถึง การนำหนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนาไปใช้ประกอบการเรียนในชั่วโมงเรียน ครอบคลุม การใช้สำหรับการเรียนโดยตรง การนำเข้าสู่บทเรียน การใช้ระหว่างเรียน และการใช้หลังเรียน และการใช้ประกอบการเรียนนอกชั่วโมงเรียน ครอบคลุม การใช้สำหรับความรู้ทั่วไป การใช้เป็นสื่อเสริมเพื่อการศึกษา และการใช้สำหรับการค้นคว้าอ้างอิง เพื่อให้เกิดประโยชน์และให้ความรู้แก่นักเรียนอย่างสูงสุด

4.6       ประโยชน์จากการใช้หนังสือเรียน หมายถึง คุณค่าที่นักเรียนได้รับจากการใช้ช่วยให้นักเรียนสามารถนำไปศึกษาได้ด้วยตนเองและสามารถทบทวนได้ตลอดเวลา มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในการช่วยให้นักเรียนเพิ่มพูนความสามารถของคนเอง สามารถคิดวิจารณ์เรื่องราวต่างๆ และเป็นคติสอนใจ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
4.7       นักเรียน หมายถึง ผู้ที่กำลังศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ของโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรีเขต 1 ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 1
ปีการศึกษา 2555

5.  ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ


เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเรียนประกอบการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา สำหรับนักเรียนโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1 ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น